ปี 2567 มีพายุเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยเพียงลูกเดียว คือ พายุโซนร้อน “ซูลิก” (SOULIK) ที่ก่อตัวจากหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 หลังจากนั้นได้เคลื่อนตัวมาทางทิศตะวันตกอย่างต่อเนื่อง แล้วเพิ่มกำลังแรงเป็นพายุดีเปรสชันในวันที่ 18 กันยายน 2567 หลังจากนั้นได้เพิ่มกำลัง
แรงขึ้นต่อเนื่องเป็นพายุโซนร้อนในช่วงสายของวันที่ 19 กันยายน 2567 แล้วเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกวางตรี ประเทศเวียดนามในช่วงเย็นของวันเดียวกัน หลังจากนั้นได้เคลื่อนตัวต่อเนื่องเข้าสู่ประเทศลาวพร้อมอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันก่อนเคลื่อนเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยบริเวณจังหวัดนครพนมในวันที่
20 กันยายน จากนั้นได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งอิทธิพลของพายุส่งผลทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วงวันที่ 19-20 กันยายน 2567
นอกจากพายุโซนร้อน “ซูลิก” แล้วยังมีพายุอีก 1 ลูก ที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยในขณะที่สลายตัวเป็นหย่อมควมกดอากาศต่ำแล้ว คือ พายุดีเปรสชัน 03W (Tropical Depression 03W) ที่เริ่มก่อตัวขึ้นจากหย่อมความกดอากาศต่ำเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 บริเวณทะเลจีนใต้
ตอนกลาง นอกชายฝั่งประเทศเวียดนาม หลังจากนั้นได้เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและเพิ่มกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2567 ต่อมาได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณตอนกลางของประเทศเวียดนามเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 แล้วสลายตัวเป็นหย่อมความกด
อากาศต่ำก่อนเคลื่อนตัวผ่านประเทศลาวเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบางพื้นที่ของภาคเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมาก
อีกทั้งยังมีพายุอีก 15 ลูกที่ถึงแม้จะไม่ได้เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรง แต่ได้เคลื่อนเข้ามาสลายตัวบริเวณประเทศเพื่อนบ้านหรือเคลื่อนตัวเข้ามายังบริเวณที่ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศของประเทศไทย
โดยเฉพาะพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” ที่ส่งผลทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้างและเกิดน้ำท่วมและโคลนถล่มอย่างรุนแรงบริเวณประเทศพม่าและจังหวัดเชียงรายของไทย โดยพายุทั้ง 15 ลูก เป็นพายุที่เกิดขึ้นทาง
ด้านฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก จำนวน 11 ลูก และฝั่งมหาสมุทรอินเดียอีก 4 ลูก ประกอบด้วย
1) พายุโซนร้อน “มาลิกซี” (Tropical Storm MALIKSI) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 30 พฤษภาคม ถึง 2 มิถุนายน 2567 โดยก่อตัวขึ้นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนแล้วเคลื่อนไปทางทิศเหนือ หลังจากนั้นได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณมณฑลกวางตุ้งของประเทศจีน แล้วเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออกผ่านประเทศใต้หวันแล้วสลายตัวไปในมหาสมุทรแปซิฟิก อิทธิพลของพายุลูกนี้ส่งผลทำให้ปริมาณและการกระจายตัวของฝนบริเวณประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
2) พายุโซนร้อน “พระพิรุณ” (Severe Tropical Storm PRAPIROON) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 20-25 กรกฎาคม 2567 โดยก่อตัวขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกแล้วเคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้แล้วเคลื่อนตัวต่อเนื่องเข้าสู่เกาะไหหลำลงสู่อ่าวตังเกี๋ย ก่อนเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองก๋วงนินห์ ตอนบนของประเทศเวียดนาม ก่อนสลายตัวเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณดังกล่าว อิทธิพลของพายุลูกนี้ส่งผลทำให้ปริมาณและการกระจายตัวของฝนบริเวณประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
3) พายุไต้ฝุ่น “ยางิ” (Typhoon YAGI) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 31 สิงหาคม ถึง 9 กันยายน 2567 โดยก่อตัวขึ้นจากหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2567 หลังจากนั้นได้ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุโซนร้อนพร้อมเคลื่อนตัวผ่านตอนบนของประเทศฟิลิปปินส์ในช่วงวันที่ 1-2 กันยายน 2567 แล้วเคลื่อนตัวลงทะเลจีนใต้ในวันที่ 3 กันยายน 2567 ในระหว่างที่พายุเคลื่อนตัวอยู่ในทะเลจีนใต้ ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่น และพัฒนาต่อเนื่องเป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่นระดับ 5 ในวันที่ 5 กันยายน 2567 หลังจากนั้นได้เคลื่อนตัวต่อเนื่องไปทางทิศตะวันตกผ่านทะเลจีนใต้ตอนบนเข้าสู่เกาะไหหลำและเคลื่อนลงสู่อ่าวตังเกี๋ยในขณะที่ลดระดับเป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 4 ก่อนจะลดระดับลงต่อเนื่องเป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 3 จนถึง ระดับ 1 ก่อนเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองไฮฟอง ประเทศเวียดนาม ในช่วงบ่ายของวันที่ 7 กันยายน 2567 จากนั้นได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนบริเวณเมืองนิญบิ่ญ ในช่วงเช้าของวันที่ 8 กันยายน 2567 และอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในวันเดียวกัน อิทธิพลของพายุส่งผลทำให้เกิดฝนตกหนักมากบริเวณประเทศลาวและพม่า รวมถึงทำให้พื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายที่มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ และส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมและโคลนถล่มอย่างรุนแรงบริเวณประเทศพม่าและจังหวัดเชียงรายของไทย
4) พายุดีเปรสชัน 17W (Tropical Depression 17W) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 20-21 กันยายน 2567 โดยก่อตัวขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วเคลื่อนตัวผ่านไปยังบริเวณทะเลเหนือเกาะไต้หวัน หลังจากนั้นได้เคลื่อนขึ้นฝั่งแล้วสลายตัวไปบริเวณประเทศจีน
5) พายุไต้ฝุ่น “กระท้อน” (Typhoon KRATHON) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 26 กันยายน ถึง 3 ตุลาคม 2567 โดยก่อตัวขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น ก่อนเคลื่อนตัวลงทางทิศใต้ผ่านทะเลเหนือเกาะลูซอนของประเทศฟิลิปปินส์เข้าสู่เกาะไต้หวันก่อนสลายตัวไป
6) พายุโซนร้อน “จ่ามี” (Severe Tropical Storm TRAMI) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 18-29 ตุลาคม 2567 โดยก่อตัวขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกแล้วเคลื่อนตัวผ่านตอนบนของประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ แล้วเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองเว้ ประเทศเวียดนามก่อนที่จะวกกลับลงทะเลจีนใต้อีกครั้ง แล้วสลายตัวไป อิทธิพลของพายุลูกนี้ส่งผลทำให้ปริมาณและการกระจายตัวของฝนบริเวณประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
7) พายุไต้ฝุ่น “หยินซิ่ง” (Typhoon YINXING) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 2-12 พฤศจิกายน 2567 โดยก่อตัวขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือผ่านตอนบนของเกาะลูซอน ประเทศฟิลลิปปินส์ หลังจากนั้นได้เคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ แล้วมุ่งลงสู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ก่อนเคลื่อนขึ้นฝั่งแล้วไปสลายตัวบริเวณประเทศเวียดนาม
8) พายุไต้ฝุ่น “หม่านหยี” (Typhoon MAN-YI) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 7-20 พฤศจิกายน 2567 โดยก่อตัวบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วเคลื่อนตัวผ่านตอนบนของประเทศฟิลิปปินส์ลงะเลจีนใต้ตอนบนแล้วสลายตัวไปบริเวณใกล้ชายฝั่งเกาะไหหลำ
9) พายุไต้ฝุ่น “โทราจี” (Typhoon TORAJI) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 8-15 พฤศจิกายน 2567 โดยก่อตัวขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกผ่านตอนบนของประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ แล้วสลายตัวไปบริเวณใกล้ชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศจีน ด้านตะวันออกของเกาะไหหลำ
10) พายุไต้ฝุ่น “อูซางิ” (Typhoon USAGI) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 9-16 พฤศจิกายน 2567 โดยก่อตัวขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือผ่านตอนบนของเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ แล้วเคลื่อนไปสลายตัวทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน
11) พายุโซนร้อน “ปาบึก” (Tropical Storm PABUK) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 20-25 ธันวาคม 2567 โดยก่อตัวบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง บริเวณนอกชายฝั่งทางด้านตะวันตกของประเทศฟิลิปปินส์ หลังจากนั้นได้เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเข้าสู่บริเวณตอนกลางของทะเลจีนใต้ก่อนเคลื่อนลงทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ แล้วสลายตัวไปในทะเลบริเวณนอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม
1) พายุไซโคลน “ริมาล” (Severe Cyclonic Storm REMAL) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 24-28 พฤษภาคม 2567 โดยก่อตัวขึ้นที่บริเวณอ่าวเบงกอล ใกล้ชายฝั่งทางด้านตะวันออกทางตอนใต้ของประเทศอินเดียแล้วเคลื่อนตัวขึ้นไปทางทิศเหนือผ่านประเทศบังคลาเทศและสลายตัวไปในบริเวณฝั่งตะวันออกทางตอนบนของประเทศอินเดีย อิทธิพลของพายุลูกนี้ส่งผลทำให้ปริมาณและการกระจายตัวของฝนบริเวณประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
2) พายุดีเปรสชัน BOB05 (Deep Depression BOB05) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 13-18 กันยายน 2567 โดยก่อตัวขึ้นบริเวณอ่างเบงกอล แล้วเคลื่อนขึ้นฝั่งที่ประเทศบังคลาเทศ หลังจากนั้นได้เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเข้าสู่ประเทศอินเดียก่อนสลายตัวไป
3) พายุไซโคลน “ดานะฮ์” (Severe Cyclonic Storm DANA) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 22-26 ตุลาคม 2567 โดยก่อตัวขึ้นบริเวณทะเลอันดามัน แล้วเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและเคลื่อนขึ้นฝั่งไปสลายตัวบริเวณประเทศอินเดีย
4) พายุไซโคลน “ฟินญาล” (Cyclonic Storm FENGAL) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 25 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม 2567 โดยก่อตัวขึ้นบริเวณตอนล่างของอ่าวเบงกอล ก่อนเคลื่อนตัวไปทางตอนกลางของอ่าวแล้วเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศอินเดีย และเคลื่อนตัวต่อเนื่องลงไปสลายตัวบริเวณทะเลอาหรับ
หากเปรียบเทียบจำนวนพายุในปี 2567 กับสถิติพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยในรอบ 74 ปี (2494-2566) จะเห็นได้ว่า ปี 2567 มีพายุเคลื่อนเข้ามาในประเทศไทยเพียง 1 ลูกเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 2 ลูก นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2540 พายุที่เคลื่อนตัวเข้ามายังประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่า
เฉลี่ยโดยมีปีที่จำนวนพายุเท่ากับค่าเฉลี่ยเพียง 6 ปี เท่านั้น และหากพิจารณาข้อมูลเป็นรายเดือน พบว่า เดือนที่มีพายุเคลื่อนเข้ามาในประเทศไทยมากที่สุดคือ เดือนตุลาคม ซึ่งมีพายุที่เคลื่อนเข้ามาทั้งหมด 56 ลูก รองลงมาคือ เดือนกันยายนและเดือนพฤศจิกายน โดยมีจำนวนพายุที่เคลื่อนเข้ามาทั้งหมด 55 และ 31 ลูก ตามลำดับ ทั้งนี้
พายุที่เข้ามาในประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับดีเปรสชัน ซึ่งมีเคลื่อนเข้ามาในประเทศไทยทั้งหมดถึง 188 ลูก ต่างจากพายุที่เคลื่อนเข้าไทยในระดับพายุโซนร้อนที่มีเพียง 18 ลูกเท่านั้น และมีพายุที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยในระดับพายุไต้ฝุ่นเพียงลูกเดียวเท่านั้นในรอบ 74 ปี คือ พายุ “เกย์” ที่เคลื่อนเข้าภาคใต้ของไทยในปี 2532