เหตุการณ์น้ำท่วม

1) บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมจังหวัดภูเก็ต ช่วงวันที่ 29-30 มิถุนายน 2567

อิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2567 ส่งผลทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทางตอนล่างของภาคใต้ ในช่วงวันที่ 29-30 มิถุนายน 2567 สำหรับจังหวัดภูเก็ต การยกตัวของอากาศและเกิดการปะทะที่หน้าแนวเขา (Orographic Lift) ส่งผลทำให้มีฝน

ตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ของเกาะในช่วงเวลาดังกล่าว โดยเป็นลักษณะของฝนตกหนักที่เกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้างเกือบทั่วทั้งเกาะและทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันมากทั้งบริเวณภูเขาและพื้นที่เมือง จากการตรวจวัดปริมาณฝนรายชั่วโมงบริเวณสถานีอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง มีฝนตกหนักถึงหนักมากเกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่

เวลา 05:00-09:00 น. ปริมาณฝนสะสมากถึง 320.40 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดน้ำท่วมฉับพลันในครั้งนี้ ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยภูเก็ตรายงานสถานการณ์อุทกภัยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 เวลา 19.28 น. มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ รวม 2 อำเภอ 7 ตำบล 41 หมู่บ้าน 4 ชุมชน 740 ครัวเรือน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,468 คน




2) บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน 03W (14-20 ก.ค. 2567)

พายุดีเปรสชัน 03W ได้เริ่มก่อตัวขึ้นจากหย่อมความกดอากาศต่ำเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 ที่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง นอกชายฝั่งประเทศเวียดนาม หลังจากนั้นได้เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนืออย่างต่อเนื่องและได้เพิ่มกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2567 หลังจากนั้นได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณตอนกลางของประเทศเวียดนาม

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 และสลายตัวเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำก่อนเคลื่อนตัวผ่านประเทศลาวเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของประเทศไทยในช่วงวันที่ 16-19 กรกฎาคม 2567 ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและบางพื้นที่ของภาคเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมากเนื่องจากเป็นบริเวณที่ได้รับผลกระทบ

โดยตรง ประกอบกับในช่วงเวลาเดียวกันมีร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรงส่งผลให้บริเวณด้านรับลมหน้าเขามีฝนตกหนักถึงหนักมากโดยเฉพาะทางด้านตะวันตกของภาคใต้และบริเวณภาคตะวันออก

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 14-20 กรกฎาคม 2567 จังหวัดที่มีฝนตกหนักมากในพื้นที่ ตรวจวัดปริมาณฝนได้เกิน 90 มิลลิเมตรต่อวัน ประกอบด้วย ภาคเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ตาก

แพร่ พะเยา เชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ อำนาจเจริญ ยโสธร มุกดาหาร เลย ศรีสะเกษ ภาคตะวันออก 5 จังหวัด ได้แก่

นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ตราด จันทบุรี ภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง พังงา ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รายงานสถานการณ์อุทกภัยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 เวลา 18.00 น. ระบุว่าระหว่างวันที่ 16-18 กรกฎาคม 2567

มีพื้นที่ประสบอุทกภัยน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันทั้งหมด 9 จังหวัด ประกอบด้วย เพชรบูรณ์ พะเยา พิษณุโลก เชียงราย แพร่ ชัยภูมิ เลย มหาสารคาม

ขอนแก่น รวมทั้งสิ้น 16 อำเภอ 32 ตำบล 122 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 437 ครัวเรือน ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

นอกจากฝนที่ตกหนักจะทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่แล้ว ยังส่งผลทำให้มีน้ำไหลลงเขื่อนเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเขื่อนที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือซึ่งอยู่ในแนวการเคลื่อนตัวของหย่อมความกดอากาศต่ำที่สลายตัวจากพายุดีเปรสชัน 03W ทั้งนี้ในช่วงวันที่ 14-20 กรกฎาคม 2567 เขื่อนที่มีน้ำไหลลง

เขื่อนสะสมเกิน 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ ที่มีน้ำไหลลงเขื่อน 218 ล้านลูกบาศก์เมตร รองลงมาคือเขื่อนสิริกิติ์ 215 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำปาว 207 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนวชิราลงกรณ 193 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิรินธร 121 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนรัชชประภา 101 ล้านลูกบาศก์เมตร ถึงแม้จะ

มีน้ำไหลลงเขื่อนเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2567 มีเขื่อนอยู่ถึง 25 แห่งจาก 35 แห่ง ที่ยังคงมีปริมาณน้ำกักเก็บต่ำกว่าเกณฑ์น้ำน้อย และในจำนวนนี้มี 8 เขื่อนที่มีน้ำกักเก็บอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤต




3) บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมบริเวณจังหวัดตราดและจันทบุรี (ปลายเดือนกรกฎาคม 2567)

ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2567 ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือตอนบนและประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย อีกทั้งมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยอย่างต่อเนื่อง

ส่งผลทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนาแน่นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลจากแนวลมพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมภาคตะวันออกและอ่าวไทยตอนบนในช่วงปลายเดือน ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคตะวันออก ทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก และทำให้เกิด

น้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรีและตราด ที่ประสบกับฝนตกหนักมากค่อนข้างต่อเนื่องในช่วงวันที่ 25-30 กรกฎาคม 2567 โดยเฉพาะวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ที่มีฝนตกหนักมากเกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้าง

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

เหตุการณ์ฝนตกหนักในครั้งนี้ได้เกิดขึ้นในหลายอำเภอของทั้งสองจังหวัด โดยอำเภอที่มีปริมาณฝนมากกว่า 90 มิลลิเมตรต่อวัน ได้แก่ จังหวัดตราด บริเวณ อ.บ่อไร่ อ.คลองใหญ่ อ.เขาสมิง อ.เกาะช้าง อ.เมืองตราด จังหวัดจันทบุรี บริเวณ อ.ขลุง อ.เมืองจันทบุรี อ.เขาคิชฌกูฏ อ.มะขาม

อ.แหลมสิงห์ อ.ท่าใหม่ โดยที่สถานีบ้านหนองบอน ต.หนองบอน อ.บ่อไร่ จ.ตราด มีปริมาณฝนสะสมรายวันสูงสุด 338 มิลลิเมตร รองลงมาคือที่สถานี อบต.สะตอ ต.สะตอ อ.เขาสมิง จ.ตราด ปริมาณฝน 281 มิลลิเมตร สำหรับปริมาณฝนสะสม 7 วันในช่วงวันที่ 25-31 กรกฎาคม 2567

สูงสุดที่สถานีบ้านหนองบอน ต.หนองบอน อ.บ่อไร่ จ.ตราด มีฝนตกมากถึง 647 มิลลิเมตร รองลงมาคือที่สถานีบ้านตาบาด ต.บ่อพลอย อ.บ่อไร่ จ.ตราด ปริมาณฝน 597 มิลลิเมตร

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ทั้งนี้ ฝนที่ตกหนักได้ส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งไหลในหลายพื้นที่ของทั้งสองจังหวัด เช่น แม่น้ำจันทบุรี บริเวณ ต.จันทนิมิต อ.เมืองจันทบุรี จ.จันทบุรี คลองโตนด บริเวณ

ต.แก่งหางแมว อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี คลองวังโตนด บริเวณ ต.วังใหม่ อ.นายายอาม จ.จันทบุรี แม่น้ำตราด บริเวณ ต.วังกระแจะ และ ต.ห้วยแร้ง อ.เมืองตราด

จ.ตราด และที่คลองห้วยแร้ง บริเวณ ต.ห้วยแร้ง อ.เมืองตราด จ.ตราด ซึ่งเป็นการเกิดน้ำล้นตลิ่งในระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 1-4 วัน

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

นอกจากนี้ ฝนที่ตกหนักยังส่งผลให้น้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นมาก และทำให้เกิดน้ำล้นอ่างหลายแห่ง จากรายงานสถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 พบสถานการณ์น้ำล้น

อ่างเกิดขึ้น 5 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองโสน (107%) อ่างเก็บน้ำห้วยแร้ง (107%) อ่างเก็บน้ำวังปลาหมอ (112%) อ่างเก็บน้ำด่านชุมพล (114%) และอ่างเก็บน้ำบ้านมะนาว (105%) ในพื้นที่ จ.ตราด และมีอ่าง

เก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมากอีก 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำเขาระกำ (95%) อ่างเก็บน้ำคลองสะพานหิน (96%) และอ่างเก็บน้ำศาลทราย (91%)

ภาพน้ำท่วมบริเวณริมแม่น้ำจันทบุรี วันที่ 1 ส.ค. 67
ภาพน้ำท่วมบริเวณ อ.เขาสมิง จ.ตราด วันที่ 30 ก.ค. 67



4) บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี 25-30 กรกฎาคม 2567

ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2567 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือของไทยและ

ประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณตอนบนของประเทศเวียดนามและอ่าวตังเกี๋ย ในช่วงวันที่ 28-30 กรกฎาคม 2567 ส่งผลให้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยที่จังหวัด

กาญจนบุรี มีฝนตกหนักเกิดขึ้นทุกวันตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคมไปจนถึงสิ้นเดือน และมีฝนตกหนักมากเกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2567

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ทั้งนี้ อำเภอที่มีฝนตกหนัก ปริมาณฝนมากกว่า 35 มิลลิเมตรต่อวัน ได้แก่ อ.สังขละบุรี อ.ทองผาภูมิ อ.เมืองกาญจนบุรี อ.ไทรโยค และมีฝนตก

หนักมากที่สุดเกิดขึ้นที่สถานีบ้านวังขนาย ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ปริมาณฝน 137.0 มิลลิเมตรต่อวัน รองลงมาคือที่สถานี

ทองผาภูมิ ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ซึ่งส่งผลทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมในหลายพื้นที่

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รายงานความเสียหายจากอุทกภัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2567 เวลา 18.00 น. ระบุว่าช่วงวันที่ 25-29 กรกฎาคม 2567 เกิด

ฝนตกหนักทำให้น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ ต.ไล่โว่ ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค ต.บ้านเก่า ต.หนองหญ้า ต.เกาะสำโรง

อ.เมืองกาญจนบุรี ในเบื้องต้นมีบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 117 ครัวเรือน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต




5) บันทึกเหตุการณ์ดินถล่มบริเวณจังหวัดภูเก็ต (สิงหาคม 2567)

ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2567 อิทธิพลจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย รวมถึงตอนบนของประเทศลาวเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมตอนบนของประเทศเวียดนาม อีกทั้งอิทธิพลจากแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบนที่พัดปกคลุมพื้นที่ตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุม

ตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทั้งนี้รวมถึงทางด้านตะวันตกของภาคใต้ที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากเกิดขึ้นทุกวันในช่วงเวลาดังกล่าว โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตที่มีฝนตกหนักเกิดขึ้น

ค่อนข้างต่อเนื่องทำให้ดินอุ้มน้ำไว้เป็นจำนวนมาก ประกอบกับคุณสมบัติของดินบริเวณดังกล่าวสามารถเคลื่อนตัวได้ง่าย อีกทั้งเป็นพื้นที่ลาดชันบนภูเขา สาเหตุทั้งหมดนี้ส่งผลทำให้เกิดดินถล่มลงสู่พื้นที่ด้านล่าง ซึ่งเกิดขึ้น 2 ครั้ง ที่บริเวณ อ.เมืองภูเก็ต ในวันที่ 23 และ 28 สิงหาคม 2567 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ทั้งนี้บริเวณจังหวัดภูเก็ตที่มีฝนตกหนัก ปริมาณฝนมากกว่า 35 มิลลิเมตรต่อวัน ประกอบด้วย 1) อ.เมืองภูเก็ต ที่ ต.กะรน ต.ฉลอง ต.ตลาดใหญ่ 2) อ.กะทู้ ที่

ต.กะทู้ ต.กมลา 3) อ.ถลาง ที่ ต.เทพกระษัตรี ต.สาคู ต.ศรีสุนทร ต.ป่าคลอก ต.ไม้ขาว โดยที่บ้านกะรน ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต มีฝนตกมาก ที่สุดถึง 177.5

มิลลิเมตรต่อวัน ในวันที่ 22 สิงหาคม 2567 รองลงมาคือที่บ้านบางหวาน ต.กมลา อ.กะทู้ ปริมาณฝฝน 154 มิลลิเมตร เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

จากเหตุการณ์ดินถล่มที่เกิดขึ้นในครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รายงานความเสียหายจากอุทกภัย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 เวลา 18.00 น. ระบุว่าจังหวัดภูเก็ตเกิดฝนตกหนักทำให้มีเหตุการณ์น้ำท่วมและดินสไลด์ในพื้นที่ 1 อำเภอ 3 ตำบล 9 หมู่บ้าน ประกอบด้วย ต.ฉลอง ต.กะรน ต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต เบื้องต้นบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 209 ครัวเรือน มี

ผู้เสียชีวิต 13 ราย เป็นหญิง 8 ราย (สัญชาติไทย 2 ราย สัญชาติรัสเซีย 1 ราย สัญชาติเมียนมา 5 ราย) และเป็นชาย 5 ราย (สัญชาติรัสเซีย 1 ราย สัญชาติเมียนมา 4 ราย) อีกทั้งมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 19 ราย ต่อมากรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รายงานความเสียหายจากเหตุการณ์ฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก ดินสไสด์และวาตภัย ที่ภูเก็ตอีกครั้งในวันที่ 28 สิงหาคม 2567 เวลา 18.00 น. โดยเกิด

เหตุการณ์ใน 3 อำเภอ 5 ตำบล 7 หมู่บ้าน ประกอบด้วย ต.รัษฏา อ.เมืองภูเก็ต ต.เทพกระษัตรี ต.เชิงทะเล อ.ถลาง ต.กมลา อ.กะทู้ ในเบื้องต้นบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 10 ครัวเรือน น้ำท่วมผิวการจราจรบนถนนดีบุก ถนนหลวงพ่อ ซอยสามกอง ถนนสายบ้านใหญ่-บ้านดอน ถนนบ้านดอน-ทุ่งเสือขวน ซอยสาคู 4 และ 7 เส้นทางลัดออกสนามบิน บ้านดอน บ้านนาสร้อย ทั้งนี้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต




6) บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมจังหวัดเชียงรายจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่น "ยางิ" ช่วงเดือนกันยายน 2567

จังหวัดเชียงรายประสบอุทกภัยหลายครั้งในปี 2567 โดยเฉพาะ อ.แม่สาย ที่โดยปกติมักเกิดอุทกภัยประมาณ 2-3 ครั้งต่อปี แต่ในปีนี้มีเหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นแล้วถึง 7 ครั้ง รวมถึงเหตุการณ์ในช่วงกลางเดือน

กันยายนครั้งนี้ด้วย สาเหตุสำคัญเกิดจากฝนที่ตกหนักต่อเนื่องหลายวันทั้งในพื้นที่จังหวัดเชียงรายเองและพื้นที่ต้นน้ำบริเวณประเทศเมียนมา ที่ได้รับอิทธิพลจากพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” ส่งผลให้มีมวลน้ำปริมาณ

มหาศาล พร้อมด้วยเศษซากต้นไม้ กิ่งไม้ สิ่งปฏิกูล และดินโคลน ไหลจากต้นแม่น้ำรวกและแม่น้ำสาย ลงสู่พื้นที่ อ.แม่สาย อย่างรวดเร็วและรุนแรง







กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรายงานเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 เวลา 18.00 น. ระบุว่าได้เกิดน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มในพื้นที่ 6 อำเภอ 24 ตำบล 123 หมู่บ้านของจังหวัดเชียงราย ประกอบด้วย
1) อ.แม่สาย บริเวณ ต.เวียงพางคำ ต.แม่สาย ต.เกาะช้าง ต.ศรีเมืองชุม
2) อ.เชียงของ บริเวณ ต.เวียง

3) อ.เมืองเชียงราย บริเวณ ทน.เชียงราย ต.รอบเวียง ต.ดอยฮาง ต.แม่ยาว ต.ริมกก ต.ห้วยชมภู ต.บ้านดู่ ต.แม่ข้าวต้ม ต.นางแล
4) อ.แม่จัน บริเวณ ต.แม่คำ ต.ศรีค้ำ ต.จันจว้า ต.จันจว้าใต้ ต.จอมสวรรค์
5) อ.แม่ฟ้าหลวง บริเวณ ต.เทอดไทย ต.แม่สลองนอก ต.แม่สลองใน ต.แม่ฟ้าหลวง
6) อ.เชียงแสน บริเวณ ต.เวียง

มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบ 45,329 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย จากเหตุดินถล่มที่ อ.แม่ฟ้าหลวง ซึ่งจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมพบว่า ตลอดเดือนกันยายนจังหวัดเชียงรายมีพื้นที่ถูกน้ำท่วมประมาณ 247,512 ไร่ โดยที่ อ.แม่สาย มีพื้นที่น้ำท่วม 31,859 ไร่



ข้อเท็จจริงและสาเหตุของการเกิดอุทกภัย

1.สภาวะอากาศและปริมาณฝน

1.1 พายุ

พายุไต้ฝุ่น “ยางิ” เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามในวันที่ 7 กันยายน 2567 จากนั้นได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนบริเวณเมืองนิญบิ่ญในวันที่ 8 กันยายน 2567 และอ่อนกำลังต่อเนื่องเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนาม

ตอนบนในวันเดียวกัน แต่อิทธิพลของพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” ส่งผลทำให้เกิดฝนตกหนักบริเวณประเทศลาวตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2567 หลังจากนั้นได้แผ่วงกว้างมาถึงจังหวัดน่าน พะเยา เชียงราย และประเทศเมียนมา โดยเฉพาะช่วงวันที่ 9-10 กันยายน 2567 ที่มีฝนตกหนักมากบริเวณ

ประเทศเมียนมา รวมถึงเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ซึ่งฝนที่ตกหนักในเมียนมาทำให้มีมวลน้ำจำนวนมากไหลลงสู่แม่น้ำรวกและแม่น้ำสาย ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้น้ำท่วมหนัก โดยเฉพาะในพื้นที่ปลายน้ำช่วงอำเภอแม่สายของประเทศไทย และจังหวัดท่าขี้เหล็กของประเทศเมียนมาที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก





1.2 ร่องมรสุม

ถึงแม้พายุ “ยางิ” ได้สลายตัวไปแล้วตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2567 แต่เนื่องจากได้เกิดร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างต่อเนื่องไปจนถึงช่วงกลางเดือน ส่งผลทำให้บริเวณภาคเหนือยังคงมีฝนตกหนักต่อเนื่องออกไป

อีกแม้พายุสลายตัวไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 11 กันยายน 2567 สถานีโทรมาตรตรวจวัดปริมาณน้ำฝน ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย สามารถตรวจวัดปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงย้อนหลัง

สูงสุดได้ถึง 235.8 มิลลิเมตร ซึ่งถือเป็นปริมาณฝนที่สูงมากเมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานของกรมอุตุนิยมวิทยา (ฝนตกหนักมาก หมายถึง ใน 1 วัน มีฝนตกมากกว่า 90 มิลลิเมตร ขึ้นไป)





1.3 ฝนตกในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน 2567

น้ำท่วมเชียงรายในครั้งนี้ไม่ได้มีสาเหตุเพียงปริมาณฝนที่ตกในช่วงต้นเดือนถึงกลางเดือนกันยายน 2567 เท่านั้น หากแต่เป็นผลสืบเนื่องจากฝนตกสะสมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 ทั้ง

บริเวณต้นแม่น้ำสายในประเทศเมียนมาและพื้นที่ปลายแม่น้ำสายบริเวณจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งหลังของเดือนสิงหาคมจนถึงครึ่งเดือนแรกของเดือนกันยายน ทำให้พื้นดินในบริเวณ

ดังกล่าวมีความชุ่มชื้นสูงและมีศักยภาพในการอุ้มน้ำลดต่ำลง ดังนั้น เมื่อมีฝนตกเพิ่มเติมในช่วงต้นถึงกลางเดือนกันยายน น้ำจึงไม่สามารถซึมลงสู่ดินได้อีก ส่งผลให้เกิดปริมาณน้ำหลากบนผิวดินในปริมาณมาก

แผนที่แสดงปริมาณและการกระจายตัวของฝนในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน 2567
ที่มา : Global Satellite Mapping of Precipitation (GSMaP)




2.สภาพพื้นที่และโครงสร้างน้ำ

2.1 สภาพป่าต้นน้ำที่เปลี่ยนแปลงไป

แม่น้ำสายมีต้นน้ำอยู่ในประเทศเมียนมา โดย 80% ของลำน้ำอยู่ในประเทศเมียนมา ส่วนที่เหลืออีก 20% อยู่ในพื้นที่ อ.แม่สาย ของประเทศไทย และจังหวัดท่าขี้เหล็กของประเทศเมียนมา ในปัจจุบันพื้นที่ต้นน้ำได้ถูกเปลี่ยนจากพื้นที่ป่าให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและเหมืองแร่ ทำให้ความสามารถในการชะลอน้ำของพื้นที่ลดต่ำลง

มาก อีกทั้งลักษณะภูมิประเทศบริเวณแม่สาย-ท่าขี้เหล็กเป็นที่ราบระหว่างหุบเขา ทำให้น้ำที่หลากลงมาจากต้นน้ำมีความเชี่ยวและแรงโดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มวลน้ำพร้อมเศษซากต้นไม้ กิ่งไม้ สิ่งปฏิกูล พร้อมดินโคลน ไหลลงมาสู่ อ.แม่สาย อย่างรวดเร็วและรุนแรง ทั้งนี้ จากภาพถ่ายจากดาวเทียมที่บันทึกไว้เมื่อวันที่ 13 กันยายน

2567 บริเวณใกล้ชายแดนประเทศเมียนมา ในเขตอำเภอแม่สาย พบรอยการเกิดดินถล่มบนภูเขาเป็นทางยาวหลายจุด (บริเวณสีน้ำตาลเข้ม) โดยแต่ละรอยมีความกว้างประมาณ 20–30 เมตร และมีความยาวตั้งแต่หลายสิบเมตรจนถึงหลายร้อยเมตร ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดการทับถมของดินโคลนจำนวนมากในพื้นที่ด้านล่าง

ภาพถ่ายแสดงลักษณะภูมิประเทศบริเวณแม่สายและท่าขี้เหล็ก


ภาพถ่ายแสดงบริเวณที่เกิดดินถล่มบนภูเขาในพื้นที่ อ.แม่สาย




2.2 ข้อจำกัดในการระบายน้ำจากแม่น้ำสายและแม่น้ำรวกลงสู่แม่น้ำโขง

การระบายน้ำจากแม่น้ำสายและแม่น้ำรวกลงสู่แม่น้ำโขงมีปัญหาดังนี้ ดังนี้
1) ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่สูงขึ้น บริเวณสบรวกหรือจุดบรรจบระหว่างท้ายน้ำของแม่น้ำ

รวกและแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงแสนมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นมาก เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม โดยเฉพาะในช่วงเดือน

สิงหาคมและกันยายน ส่งผลให้ศักยภาพการระบายน้ำผ่านแม่น้ำสายและแม่น้ำรวกค่อนข้างต่ำ

ระดับน้ำในแม่น้ำโขงบริเวณ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม


2) การขยายตัวของพื้นที่เมืองทั้งในฝั่งแม่สายและท่าขี้เหล็ก
ช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา อำเภอแม่สายของประเทศไทยและจังหวัดท่าขี้เหล็กของประเทศเมียนมาต่างขยายตัวเป็นเมืองขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ทางน้ำเปลี่ยนแปลงไป และหลายจุดที่เคยเป็นพื้นที่

สำหรับระบายน้ำได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัย ในอดีตแม่น้ำสายเคยมีความกว้าง 130-150 เมตร แต่ปัจจุบันถูกรุกล้ำลำน้ำจากสิ่งปลูกสร้างจนเหลือความกว้างเพียง 20-50 เมตรเท่านั้นในช่วงพื้นที่เมือง และบางจุดแคบลงเหลือเพียง 7 เมตร สามารถเดินข้ามได้ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอุปสรรค

อย่างมากต่อการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งไม่ต่างจากแม่น้ำกกที่แต่เดิมรอบ ๆ ลำน้ำเป็นเรือกสวนไร่นาและเป็นพื้นที่รองรับน้ำ แต่ถูกปรับเปลี่ยนเป็นสถานที่พักผ่อน โรงแรม ศูนย์ราชการ และอื่น ๆ ส่งผลให้ลำน้ำแคบลงมาก

ภาพเปรียบเทียบลักษณะพื้นที่ของ อ.แม่สาย และ จ.ท่าขี้เหล็ก ในปี 2547 และ 2567






3. การบริหารจัดการน้ำและข้อจำกัดในการดำเนินการ

3.1 ความท้าทายในการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดน การบริหารจัดการแม่น้ำสายและแม่น้ำรวกของประเทศไทยต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศเมียนมาและประเทศจีน ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนและต้องใช้กระบวนการที่อาจต้องใช้ระยะเวลานาน

3.2 ข้อจำกัดด้านระบบเตือนภัยและการคาดการณ์ การขาดระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่ช่วยให้สามารถเตรียมรับมือได้ทันเวลา รวมทั้งการไม่สามารถประเมินปริมาณน้ำที่จะ

ไหลลงมายังบริเวณ อ.แม่สาย ได้ เนื่องจากไม่มีสถานีตรวจวัดปริมาณน้ำฝนบริเวณต้นน้ำซึ่งอยู่ในประเทศเมียนมา

3.3 ข้อจำกัดในการขุดลอกและขยายลำน้ำ บางส่วนของแม่น้ำรวกและแม่น้ำสายเป็นแนวพรมแดนระหว่างประเทศไทยและเมียนมา การดำเนินการขุดลอกหรือขยายลำน้ำจึงมีความอ่อนไหวในประเด็นด้านความมั่นคงของประเทศ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองประเทศ

3.4 การบริหารจัดการระดับน้ำในแม่น้ำโขงร่วมกับจีน ปัจจุบันยังไม่มีความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมกับประเทศจีนในการจัดการระดับน้ำในแม่น้ำโขง ที่จะต้องขอความร่วมมือจากประเทศจีน





7) บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
    จากอิทธิพลของร่องมรสุมและพายุโซนร้อน "ซูลิก" (SOULIK) ช่วงกลางเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม 2567

พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบภัยน้ำท่วมเป็นระยะ ๆ มาตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณดังกล่าว รวมทั้งอิทธิพลจากพายุหลายลูกไม่ว่าจะเป็นพายุดีเปรสชัน “03W”

ในเดือนกรกฎาคม และพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2567 ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในช่วงต้นเดือนกันยายนยังไม่คลี่คลาย กลับมีฝนตกหนักต่อเนื่องเกิดขึ้นอีกตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายนจนถึงช่วงต้นเดือนตุลาคม 2567 จาก

อิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านและพายุโซนร้อน “ซูลิก” ส่งผลให้สถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ในช่วงเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม 2567 ร่องมรสุมได้พาดผ่านบริเวณตอนบนของประเทศเป็นระยะในช่วงวันที่ 15-18 และ 21-24 กันยายน 2567 รวมถึงช่วงวันที่ 1-2 ตุลาคม 2567 ก่อนที่จะเลื่อนลงไปพาดผ่านบริเวณภาคใต้ ส่วนพายุ “ซูลิก” ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันบริเวณ

ประเทศลาวก่อนเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณจังหวัดนครพนมในวันที่ 19 กันยายน 2567 แล้วอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงก่อนเคลื่อนตัวเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทยใน

วันถัดมา ซึ่งอิทธิพลของพายุและร่องมรสุมนี้ส่งผลทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเห็นได้ชัดในช่วงวันที่ 19-24 กันยายน 2567 และ 1-3 ตุลาคม 2567



ทั้งนี้ จังหวัดที่มีฝนตกหนักมากเกิน 90 มิลลิเมตรต่อวัน ประกอบด้วย ภาคเหนือ 14 จังหวัด ได้แก่ พะเยา ลำปาง เชียงใหม่ แพร่ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิษณุโลก ลำพูน เพชรบูรณ์ เชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอน สุโขทัย ตาก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 จังหวัดได้แก่ เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู มุกดาหาร ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา ขอนแก่น บึงกาฬ

หนองคาย สุรินทร์ ศรีสะเกษ สกลนคร โดยที่สถานีบ้านปางริมกรณ์ ต.แม่กรณ์ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ตรวจวัดปริมาณฝนสะสมรายวันได้สูงสุด 195 มิลลิเมตรต่อวันเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 รองลงมาคือที่สถานีบ้านรวงผึ้งพัฒนา ต.คลองน้ำไหล อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร ปริมาณฝน 194.9 มิลลิเมตรต่อวันเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 สำหรับปริมาณฝนสะสม

ช่วงวันที่ 16 กันยายน ถึง 5 ตุลาคม 2567 ที่สถานีสันทราย ต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ มีปริมาณฝนสะสมมากที่สุดถึง 835.8 มิลลิเมตร รองลงมาคือที่สถานีบ้านป่าเวียง ต.ทุ่งกว๋าว อ.เมืองปาน จ.ลำปาง ปริมาณฝนสะสม 680.5 มิลลิเมตร และสถานีบ้านป่าเผือก ต.ทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ปริมาณฝนสะสม 583.5 มิลลิเมตร

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ฝนที่ตกหนักได้ส่งผลทำให้ลำน้ำสายหลักเกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมในหลายพื้นที่ของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยที่ภาคเหนือมีน้ำล้นตลิ่งบริเวณ
1) แม่น้ำปิง บริเวณ อ.เมืองเชียงใหม่ โดยที่สถานี P.1-สะพานนวรัฐ ต.วัดเกต อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ที่เกิด น้ำล้นตลิ่งด้วยระดับน้ำที่สูงถึง 305.77 ม.รทก. เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2567 ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับข้อมูลย้อนหลังในรอบ 10 ปี
2) แม่น้ำลาว บริเวณ อ.เวียงป่าเป้า อ.แม่สรวย จ.เชียงราย

3) แม่น้ำวัง บริเวณ อ.เกาะคา จ.ลำปาง
4) แม่น้ำสา บริเวณ อ.เวียงสา จ.น่าน
5) แม่น้ำอิง บริเวณ อ.ดอกคำใต้ อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา รวมถึงที่กว๊านพะเยา
6) แม่น้ำทา บริเวณ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน
7) แม่น้ำกวง บริเวณ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน
8) แม่น้ำขาน บริเวณ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่
9) แม่น้ำวังทอง บริเวณ อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก
10) แม่น้ำแควน้อย บริเวณ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก

11) คลองท่าสะแก บริเวณ อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก
12) แม่น้ำยม บริเวณคลองผันน้ำยมน่าน อ.สวรรคโลก และ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก อ.เมืองแพร่ จ.แพร่
13) แม่น้ำน่าน บริเวณ อ.เวียงสา จ.น่าน อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ และ
14) แม่น้ำป่าสัก บริเวณ อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์

แม่น้ำปิง สถานี P.1-สะพานนวรัฐ
ต.วัดเกต อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่


ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกิดน้ำล้นตลิ่งบริเวณ
1) ลำน้ำอูน บริเวณ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
2) ห้วยน้ำฮวย บริเวณ อ.สังคม จ.หนองคาย
3) แม่น้ำสงคราม บริเวณ อ.นาทม จ.นครพนม อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร
4) คลองยาม บริเวณ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร

5) คลองหลวง บริเวณ อ.บ้านดุง อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี
6) คลองก่ำ บริเวณ อ.วังยาง จ.นครพนม
7) คลองเซบาย บริเวณ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร
8) คลองน้ำโมง บริเวณ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู

9) คลองบังอี่ บริเวณ อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร
10) ลำน้ำเชิญ บริเวณ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น
11) คลองปาว บริเวณ อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์
12) แม่น้ำเลย บริเวณ อ.เชียงคาน จ.เลย
13) คลองปากแซง บริเวณ อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี

ระดับน้ำที่ลำน้ำอูน
บริเวณสถานี TBW027-ลำน้ำอูน ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
ระดับน้ำที่แม่น้ำสงคราม
บริเวณสถานี SKM001-บ้านนาทม ต.นาทม อ.นาทม จ.นครพนม


สำหรับแม่น้ำโขง ปี 2567 ระดับน้ำเพิ่มขึ้นมากอย่างผิดปกติตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนกันยายน โดยเกิดขึ้นในทุกจุดตรวจวัดน้ำของลำน้ำในเขตประเทศไทยและประเทศลาว โดยเฉพาะช่วงเดือนกันยายน

ที่ ฝั่งประเทศไทยประสบกับปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นสูงสุดอย่างผิดปกติ และเกิดน้ำล้นตลิ่งบริเวณสถานีเชียงคาน จ.เลย สถานีเวียงจันทน์ บริเวณ สปป.ลาว สถานี

หนองคาย จ.หนองคาย ซึ่งส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำโขงในหลายจุด เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลทำให้การระบายน้ำจากลำน้ำในประเทศไทยลงสู่แม่น้ำโขงทำได้ค่อนข้างช้า

ระดับน้ำที่แม่น้ำโขง
บริเวณสถานีเชียงคาน จ.เลย
ระดับน้ำที่แม่น้ำโขง
บริเวณสถานีหนองคาย


จากเหตุการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายนจนถึงช่วงต้นเดือนตุลาคม 2567 ส่งผลทำให้เขื่อนขนาดใหญ่มีน้ำไหลลงเขื่อนเพิ่มมากขึ้น โดยช่วงวันที่ 15 กันยายน ถึง 5 ตุลาคม 2567 เขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือมีน้ำไหลลงเขื่อนรวมกันมากถึง 4,622 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีน้ำไหลลงเขื่อนรวมกัน 2,722 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยในช่วงเวลาดังกล่าว เขื่อนที่มีน้ำไหลลงเขื่อนเกิน 100 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล

จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก เขื่อนน้ำอูน เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี เขื่อนแม่งัด จ.เชียงใหม่ โดยเขื่อนภูมิพล มีน้ำไหลลงเขื่อนมากที่สุด 2,149 ล้านลูกบาศก์เมตร รองลงมาคือเขื่อนสิริกิติ์ 1,342 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนอุบลรัตน์ 1,264 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้จากรายงาน สถานการณ์น้ำกักเก็บในเขื่อนเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2567 พบว่าเกิดน้ำล้นเขื่อนที่เขื่อน

แม่งัด ปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 112.61% โดยน้ำเริ่มล้นเขื่อนตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 รวมทั้งเป็นวันที่มีน้ำไหลลงเขื่อนรายวันสูงสุดถึง 22.3 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อเที่ยบกับข้อมูลย้อนหลังในรอบ 10 ปี และมีเขื่อนที่มีน้ำกักเก็บอยู่ในเกณฑ์น้ำมากถึง 13 แห่ง ได้แก่ เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนประแสร์ เขื่อนน้ำอูน เขื่อนลำปาว เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนแม่มอก เขื่อนนฤบดินทรจินดา เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนกิ่วลม เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนอุบลรัตน์




รายงานปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือ ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2567


ทั้งนี้ จากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นหลายครั้งในหลายพื้นที่ของประเทศไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รายงานความเสียหายจากอุทกภัย ณ วันที่ 7 ตุลาคม 2567 เวลา 18.00 น. โดยเป็นการรายงานภัยน้ำท่วมที่เกิดในช่วงวันที่ 16 สิงหาคมถึง 7 ตุลาคม 2567 ในพื้นที่ 44 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ เลย อุดรธานี กาฬสินธุ์ หนองคาย นครพนม ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม นครราชสีมา

บุรีรัมย์ บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี นอกจากนี้ ยังเกิดอุทกภัยบริเวณจังหวัดปราจีนบุรี ระยอง นครสวรรค์ สิงห์บุรี สุพรรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ปทุมธานี ชุมพร สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ยะลา นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง สตูล และสงขลา รวมพื้นที่เกิดอุทกภัยทั้งสิ้น 268 อำเภอ 1,162 ตำบล 6,012 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 241,482 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตจากอุทกภัย 29 ราย ประกอบด้วย เชียงราย 12 ราย เชียงใหม่ 2 ราย พะเยา 4 ราย ลำปาง 3 ราย น่าน 3 ราย แพร่ 2 ราย สุโขทัย 2 ราย สงขลา 1 ราย นอกจากนี้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์

ดินถล่ม 23 ราย ประกอบด้วย เชียงราย 4 ราย เชียงใหม่ 6 ราย ภูเก็ต 13 ราย รวมผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 52 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 28 ราย ณ วันที่รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 19 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ สุโขทัย อุดรธานี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มหาสารคาม อุบลราชธานี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สงขลา รวมทั้งสิ้น 65 อำเภอ 325 ตำบล 1,556 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 66,202 ครัวเรือน


น้ำท่วมนาข้าวและพื้นที่เลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านในพื้นที่ จ.นครพนม วันที่ 14 กันยายน 2567

น้ำท่วมบริเวณการประปาส่วนภูมิภาค จ.หนองคาย วันที่ 14 กันยายน 2567

น้ำท่วมบริเวณมหาวิทยาลัยพะเยา วันที่ 17 กันยายน 2567

น้ำท่วมบริเวณจังหวัดอุดรธานี วันที่ 26 กันยายน 2567

น้ำล้นแม่น้ำยมเข้าท่วมจังหวัดสุโขทัย วันที่ 25 กันยายน 2567

น้ำท่วมบริเวณชุมชนป่าพร้าวนอก ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ วันที่ 24 กันยายน 2557





8) บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้จากเหตุการณ์ฝนตกหนักในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2567

ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงได้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันอย่างต่อเนื่อง ส่งผล

ให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากกระจายตัวในหลายพื้นที่ของภาคใต้ โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกของภาคตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนถึงตอนล่างของภาค ที่เริ่มมีฝนตกหนัก

กระจายตัวในหลายพื้นที่อย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 และตกต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือน

แผนที่แสดงตำแหน่งสถานีและปริมาณมาณฝนที่ตรวจวัดได้ในแต่ละวัน

19/11/2024

20/11/2024

21/11/2024

22/11/2024

23/11/2024

24/11/2024

25/11/2024

26/11/2024

27/11/2024

28/11/2024

29/11/2024

30/11/2024


สถานการณ์ได้ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนผ่านบริเวณปลายแหลมมาลายูในช่วงวันที่ 27-30 พฤศจิกายน 2567 ส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากครอบคลุมเป็นบริเวณกว้างใน

ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ไปจนถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว

เมื่อได้รับอิทธิพลเพิ่มเติมจากหย่อมความกดอากาศต่ำ ยิ่งทำให้มีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงในหลายพื้นที่

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ทั้งนี้ บริเวณที่มีฝนตกหนักมาก ปริมาณฝนสะสม 10 วันมากกว่า 1,000 มิลลิเมตร ประกอบด้วย
1) จ.ปัตตานี บริเวณ อ.โคกโพธิ์ อ.สายบุรี อ.ยะรัง อ.ทุ่งยางแดง อ.หนองจิก อ.กะพ้อ อ.มายอ
2) จ.นราธิวาส บริเวณ อ.เจาะไอร้อง อ.เมืองนราธิวาส อ.จะแนะ อ.แว้ง อ.ยี่งอ อ.รือเสาะ อ.ศรีสาคร อ.บาเจาะ
3) จ.ยะลา บริเวณ อ.รามัน อ.บันนังสตา
4) จ.สงขลา บริเวณ อ.เทพา อ.เมืองสงขลา

ซึ่งในแต่ละวันมีฝนตกหนักมากเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยอำเภอที่มีฝนตกหนักมากกว่า 200 มิลลิเมตรต่อวัน ประกอบด้วย
1) จ.นครศรีธรรมราช บริเวณ อ.พรหมคีรี อ.นบพิตำ
2) จ.สงขลา บริเวณ อ.เทพา อ.นาทวี อ.เมืองสงขลา อ.สะบ้าย้อย อ.สะเดา อ.หาดใหญ่
3) จ.พัทลุง บริเวณ อ.กงหรา อ.ปากพะยูน อ.บางแก้ว อ.เขาชัยสน

4) จ.ปัตตานี บริเวณ อ.สายบุรี อ.ปะนาเระ อ.ไม้แก่น อ.หนองจิก อ.มายอ อ.ยะรัง อ.ทุ่งยางแดง อ.โคกโพธิ์ อ.กะพ้อ
5) จ.นราธิวาส บริเวณ อ.เมืองนราธิวาส อ.เจาะไอร้อง อ.สุไหงโก-ลก อ.ยี่งอ อ.สุคิริน อ.แว้ง อ.ตากใบ อ.รือเสาะ อ.ระแงะ อ.ศรีสาคร อ.จะแนะ อ.บาเจาะ
6) จ.ยะลา บริเวณ อ.เมืองยะลา อ.ธารโต อ.บันนังสตา อ.กาบัง อ.รามัน อ.ยะหา อ.กรงปินัง
7) จ.สตูล บริเวณ อ.ควนกาหลง

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ฝนที่ตกหนักบริเวณภาคใต้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 ส่งผลทำให้ลำน้ำสายหลักเกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมในหลายพื้นที่ ประกอบด้วย
- แม่น้ำปัตตานี บริเวณ อ.บันนังสตา อ.เมืองยะลา อ.เบตง จ.ยะลา อ.เมืองปัตตานี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
- แม่น้ำสายบุรี บริเวณ อ.สุคิริน อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส อ.รามัน จ.ยะลา
- แม่น้ำโก-ลก บริเวณ อ.สุไหงโก-ลก อ.แว้ง จ.นราธิวาส

- คลองบองอและคลองตันหยงมัส บริเวณ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส
- คลองเล็กและคลองปะแต บริเวณ อ.ยะหา จ.ยะลา
- คลองกาแลกูโบ บริเวณ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
- คลองอู่ตะเภา บริเวณ อ.หาดใหญ่ อ.สะเดา จ.สงขลา
- คลองระโนด บริเวณ อ.ระโนด จ.สงขลา
- คลองปากรอ บริเวณ อ.สิงหนคร จ.สงขลา
- คลองลึก บริเวณ อ.จะนะ จ.สงขลา

- คลองเทพา บริเวณ อ.สะบ้าย้อย อ.เทพา จ.สงขลา
- คลองสำโรง บริเวณ อ.สิงหนคร จ.สงขลา
- คลองบางม่วง บริเวณ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง
- คลองลำปำ บริเวณ อ.เมืองพัทลุง จ.พัทลุง
- คลองวังเคียน อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช
- แม่น้ำตรัง บริเวณ อ.รัษฎา อ.วังวิเศษ จ.ตรัง


แม่น้ำปัตตานีล้นเข้าท่วมบริเวณเทศบาลเมืองปัตตานี
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 (ข้อมูลจากไทยโพสต์)

นอกจากนี้ ฝนที่ตกหนักยังส่งผลทำให้มีน้ำไหลลงเขื่อนบางลาง จ.ยะลา เพิ่มสูงขึ้นค่อนข้างมากตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน ไปจนถึงสิ้นเดือน โดยเฉพาะในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 มีน้ำไหลลงเขื่อนมากถึง 130.98 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนต่อวันที่มากที่สุดเมื่อ

เทียบกับข้อมูลย้อนหลังในรอบ 20 ปี โดยก่อนเกิดเหตุการณ์ฝนตกหนัก เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 มีน้ำกักเก็บอยู่ในเขื่อนเพียง 737 ล้านลูกบาศก์เมตร (51% ของความจุเขื่อน) ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลางค่อนไปทางน้อย แต่หลังฝนตกหนัก ณ วันที่ 2 ธันวาคม 2567 ปริมาณน้ำได้เพิ่มขึ้นเป็น

1,180 ล้านลูกบาศก์เมตร (81% ของความจุเขื่อน) ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก ส่วนเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี ไม่ได้รับผลกระทบในช่วงเวลาดังกล่าว ปริมาณน้ำยังคงอยู่ที่ 72% ของความจุ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง


ด้านความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รายงานเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เวลา 18.00 น. โดยระบุว่าในช่วงวันที่ 22 พฤศจิกายน ถึง 4 ธันวาคม 2567 ได้เกิดอุทกภัยใน 10 จังหวัด ประกอบด้วย ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง

สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวมทั้งสิ้น 87 อำเภอ 538 ตำบล 3,729 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 664,173 ครัวเรือน โดยมีผู้เสียชีวิต 29 ราย ประกอบด้วย ที่ จ.พัทลุง 2 ราย สงขลา 10 ราย ปัตตานี 7 ราย ยะลา 5 ราย นราธิวาส 4 ราย นครศรีธรรมราช 1 ราย ณ วันที่

รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยอยู่อีก 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานีและนราธิวาส รวม 25 อำเภอ 174 ตำบล 1,080 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 143,785 ครัวเรือน