ปี 2567 สถานการณ์น้ำเค็มรุกในแม่น้ำเจ้าพระยามีความรุนแรงกว่าปี 2566 โดยเฉพาะในช่วงต้นปี สังเกตได้จากเกณฑ์สีส้ม (ระดับความเค็มในช่วง >0.50-2.0 กรัมต่อลิตร) ที่รุกขึ้นไปถึงสถานีสูบน้ำดิบสำแล ในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งสถานีสำแล อ.เมืองปทุมธานี เป็นสถานีสูบน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาแจกจ่ายให้แก่พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และสีส้มเป็นเกณฑ์ที่ใช้ระบุว่าจะต้องหยุดสูบน้ำดิบ
เข้าระบบเนื่องจากน้ำมีความเค็มมากเกินไปสำหรับระบบผลิตน้ำประปา แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ความเค็มที่บริเวณนี้มีความรุนแรงน้อยกว่าปี 2564 ที่ค่าความเค็มสูงกว่าและเกิดบ่อยครั้งกว่ามาก นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าที่สถานีพระนั่งเกล้ามีความเค็มอยู่ในเกณฑ์สีส้มเกิดขึ้นบ่อยครั้งและค่อนข้างต่อเนื่องในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2567 รวมทั้งมีเกณฑ์สีแดง (เกินเกณฑ์มาตรฐานเพื่อการเกษตร) เกิด
ขึ้นหลายครั้งในเดือนพฤษภาคม ซึ่งต่างจากปี 2566 ที่ไม่มีเกณฑ์สีส้มและสีแดงเกิดขึ้นเลย รวมถึงในเดือนมกราคมปี 2567 นี้ความเค็มในระดับสีเหลือง (เกณฑ์เฝ้าระวังคุณภาพน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปา) ได้รุกขึ้นไปถึงสถานีโพธิ์แตงเหนือ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งหากเทียบกับข้อมูลย้อนหลังไปถึงปี 2564 จะพบว่าไม่มีเกณฑ์สีเหลืองเกิดขึ้นที่สถานีดังกล่าว