ข่าวน้ำท่วม


"เชียงราย" ยังอ่วมน้ำท่วมซ้ำ-เสี่ยงฝนตกหนักถึง 29 ส.ค. [ ThaiPBS : 18 สิงหาคม 2567 เวลา 12.31 น.]

"เชียงราย" ยังอ่วมน้ำท่วมซ้ำตลาดสายลมจอย 4 รอบในช่วง 2 สัปดาห์ ส่วนวัดบุญวาทย์ อ.พญาเม็งราย จมน้ำสูงกว่า 1 เมตร กรมอุตุนิยมวิทยา เสี่ยงฝนตกหนักถึง 29 ส.ค.

วันนี้ (18 ส.ค.2567) สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.เชียงราย ยังคงวิกฤตเนื่องจากฝนตกหนัก และมีน้ำป่าไหลหลาก และน้ำในแม่น้ำสายหลักล้นตลิ่ง โดยเฉพาะ อ.แม่สาย ขุนตาล ป่าแดด และพญาเม็งราย ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยา ยังเตือนภาคเหนือจะยังมีฝนตกหนักไปถึง 29 ส.ค.นี้

จากการสำรวจ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ยังต้องเฝ้าระวังตลอดทั้งคืน หลังน้ำเพิ่มสูงขึ้นช่วงกลางดึก โดยเฉพาะตลาดชายแดนสายลมจอย พื้นที่เศรษฐกิจถูกน้ำท่วมซ้ำอีกครั้ง และเป็นครั้งที่ 3 ในรอบสัปดาห์ ซึ่งตลอดทั้งคืนพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสายลมจอย ต้องรีบเก็บสินค้าเก็บไว้บนพื้นที่สูง เพราะน้ำเพิ่มสูงต่อเนื่อง อย่างรวดเร็ว

แม่น้ำสายเพิ่มระดับขึ้นช่วงกลางดึก การจะขนหรือเก็บสินค้าคนเดียวไม่ทัน ผู้ค้าตลาดสายลมจอย ต้องมาช่วยกันขนสินค้าขึ้นบนพื้นที่สูง โดยผู้ค้ายังสะท้อนกับทีมข่าวว่า

เดือนนี้น้ำท่วมหลายรอบ และน้ำท่วมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้ว แทบจะไม่ได้ขายสินค้า

สายลมจอยท่วม 4 รอบ-วัดบุญวาทย์จมน้ำ

แม้ว่าช่วงเช้าที่ผ่านมา บริเวณตลาดสายลมจอย น้ำลดลงไปมากแต่ยังมีน้ำท่วมสูงอยู่ และทิ้งคลาบโคลนที่ไหลมากับน้ำจำนวนมากส่วนแม่น้ำสาย ก็ลดระดับลง บางจุดต่ำกว่าตลิ่ง ทำให้บางจุดที่เกิดน้ำท่วมในเขตเทศบาลตำบลแม่สายเริ่มกลับสู่สภาวะปกติ และกลับมาทำความสะอาด

ขณะที่อีกจุดหนึ่งของเชียงราย ที่ระดับน้ำยังท่วมสูงคือสภาพวัดบุญวาทย์ บ.ทุ่งเจ้า ต.แม่เปา อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย ยังจมน้ำสูงกว่า 1 เมตร เป็นวันที่ 2 หลังจากระดับน้ำต๊าก ยังเอ่อล้นเข้าพื้นที่ต่อเนื่อง ทำให้พระที่จำพรรษา 4 รูปต้องพายเรือออกไปปฏิบัติศาสนกิจ

สถิติฝนตกรายวัน "เชียงราย" 120 มม.

ขณะที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานว่าปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือจ.เชียงราย 120 มม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

จ.สกลนคร 156 มม.ภาคกลาง จ.ปทุมธานี 65 มม.ภาคตะวันออก จ.ระยอง 59 มม. ภาคตะวันตก จ.เพชรบุรี 51 มม.ภาคใต้ จ.สงขลา 158 มม.

ทั้งนี้สทนช.ออกประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 10/2567 เรื่องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่16–22 ส.ค.นี้

พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มและบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำบริเวณ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย หนองบัวลำภูบึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราดเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80

นอกจากนี้ให้ เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของลำน้ำงาว ลำน้ำปาย แม่น้ำลาว แม่น้ำน่าน แม่น้ำยม แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก ลำน้ำก่ำ และแม่น้ำตราด





อัปเดตล่าสุด 'น้ำท่วม' 6 อำเภอ จ.พะเยา ประชาชนเดือดร้อน 1.1 หมื่นคน[ กรุงเทพธุรกิจ : 22 สิงหาคม 2567 เวลา 16.20 น.]

อัปเดตสถานการณ์น้ำท่วม จ.พะเยา ล่าสุด พื้นที่ 6 อำเภอ ประชาชนเดือดร้อน 11,200 คน ผู้ว่าฯ สั่งลงพื้นที่ดูแลเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยไปยังที่ปลอดภัย พร้อมเน้นย้ำให้พี่น้องประชาชนรับฟังการแจ้งเตือนข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด

วันนี้ (22 ส.ค. 67) นายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้อำเภอในจังหวัดพะเยา 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอปง อำเภอเชียงม่วน อำเภอเชียงคำ อำเภอภูซาง และอำเภอดอกคำใต้ ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม และน้ำป่าไหลหลาก

ทำให้บ้านเรือนพี่น้องประชาชนและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่งได้รับความเสียหาย โดยในเบื้องต้นมีครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบกว่า 3,400 ครัวเรือน ซึ่งขณะนี้ เจ้าหน้าที่ได้เร่งให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น พร้อมสั่งการให้ติดตามสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยอย่างใกล้ชิด

นายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวว่า สถานการณ์เบื้องต้นของเหตุการณ์น้ำท่วม จังหวัดพะเยา ใน 6 อำเภอ 12 ตำบล 46 หมู่บ้าน 15 ชุมชน ผู้ได้รับผล กระทบจำนวน 3,400 ครัวเรือน 11,200 คน มีรายละเอียดดังนี้

อำเภอเชียงม่วน

กระแสน้ำยมพัดทำให้สะพานตอม่อ สะพานข้ามลำน้ำยมระหว่างอำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง-อำเภอเชียงม่วน ชำรุดต้องปิดการจราจรห้ามรถข้าม และมีน้ำป่าไหลทะลักท่วมในหลายตำบล ล่าสุด นายอำเภอเชียงม่วนพร้อมทีมกู้ภัยและเจ้าหน้าที่ ปภ.จ.พะเยา ทต.เชียงม่วน ทหาร ร.17 ลงพื้นที่เข้าช่วยเหลือทั้งคนที่ติดในบ้านแล้ว อำเภอปง

ได้เกิดน้ำท่วมใน 7 ตำบล พบชาวบ้านติดอยู่ทั้งในบ้านและกลางกระแสน้ำโดยเฉพาะบ้านแสะ ล่าสุดเจ้าหน้าที่กู้ภัยและชาวบ้านได้ใช้โดรนตัวใหญ่บินเอาเชือกให้หลังจากนั้นได้ทำการดึงเข้าฝั่งเป็นที่เรียบร้อย แต่นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ายังพบคนติดอยู่กลางกระแสน้ำป่าทั้งในบ้านและนอกบ้าน ซึ่งเวลานี้ทางเจ้าหน้าที่กู้ภัยในหลายพื้นที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือ

อำเภอเชียงคำ

ได้รับผลกระทบน้ำป่าเข้าท่วมทั้ง ต.แม่ลาว ต.ฝายกวาง ต.เวียง ต.เจดีย์คำ และ ต.ร่มเย็น น้ำได้ไหลมาอย่างรวดเร็วทำความเสียหายในหลายจุด นายอำเภอสั่งการให้การช่วยเหลือและเร่งติดตามสถานการณ์น้ำท่วมทุกระยะ รวมทั้งเฝ้าติดตามระดับน้ำลาวบริเวณตลาดเชียงคำ และบ้านล้า ต.เวียง อย่างใกล้ชิด

อำเภอภูซาง

น้ำป่าได้ไหลท่วม ทั้ง 5 ตำบล หนักสุดมี ต.ภูซาง ทุ่งกล้วย เชียงแรงและสบบง สถานการณ์ในช่วงเย็น ต.เชียงแรงพบชาวบ้าน 1 รายพร้อมวัว 4 ตัวติดกลางกระแสน้ำป่าล่าสุดทาง อส.ภูซางได้ลงไปช่วยและพาเดินขึ้นฝั่งได้สำเร็จ โดยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 5 ตำบล 61 หมู่บ้าน และอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย

อำเภอดอกคำใต้

เกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากจากอ่างเก็บน้ำร่องสักไหลตามลำห้วยร่องช้างเข้าท่วมบ้านเรือนของราษฎรและพื้นที่ทางการเกษตร ในพื้นที่ 6 ตำบล 39 หมู่บ้าน 26 ชุมชน โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หน่วยทหารจาก หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 35 (นพค.35) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ อปท. ติดตามสถานการณ์ และให้ความช่วยเหลือขนของขึ้นที่สูงและอพยพประชาชนและจะได้สำรวจความเสียหายต่อไป

อำเภอเมืองพะเยา

ได้เกิดเหตุฝนตกหนัก ทำให้มีน้ำป่าไหลหลากและเอ่อล้นตลิ่ง เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่ทางการเกษตร จำนวน 12 ตำบล 46 หมู่บ้าน 15 ชุมชน โดยมีผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 400 ครัวเรือน

นายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวต่อว่า ตนได้สั่งการให้นายอำเภอ ร่วมกับผู้นำท้องที่ ท้องถิ่นในการจัดเวรเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอดทั้งคืนในพื้นที่ด้วย โดยได้เน้นย้ำเรื่องการเฝ้าระวังในช่วงคืนนี้หากมีฝนตกหนักมาก็สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ปลอดภัย สำหรับการช่วยอื่น ๆ หลังน้ำลดจะได้ดำเนินในส่วนที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้ประสบภัยต่อไป

ขณะนี้ฝนยังคงตกกระจายในพื้นที่จังหวัดพะเยาอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ระมัดระวังและเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้ด้วย ซึ่งสำหรับการให้ความช่วยเหลือขณะนี้มีหลายหน่วยงานส่งความช่วยเหลือให้กับผู้ประสบอุทกภัยในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจังหวัดพะเยาได้เร่งให้ความช่วยเหลือ ทั้งในด้านการดูแลอาหาร และน้ำดื่มสะอาดให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัย การซ่อมแซมเส้นทางคมนาคม การอพยพเคลื่อนย้ายประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย นอกจากนี้ ได้มีการจัดหาเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่นอน และการปฐมพยาบาลแก่ผู้ประสบภัยเบื้องต้นแล้ว

นายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวเพิ่มเติม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น จากการประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม จึงขอให้อำเภอ เทศบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า พร้อมทั้งติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด รวมถึงเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักหรือบริเวณฝนตกสะสม ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอุทกภัยได้ สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำ น้ำตก หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยตลอด 24 ชั่วโมง

นายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้พี่น้องประชาชนระมัดระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์น้ำท่วมขัง ในกรณีที่มีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายให้ตัดกระแสไฟฟ้าทันที และขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารสถานการณ์อุทกภัย ตลอดจนการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด จนกว่าเหตุการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อให้รู้เท่าทันเหตุการณ์อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ หากได้รับความเดือดร้อนจากเหตุภัยพิบัติ หรือ ต้องการขอรับความช่วยเหลือ สามารถโทรสายด่วนนิรภัย 1784 หรือสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 หรือ ประสานงานกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปลัดอำเภอประจำตำบล นายอำเภอ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง







น้ำท่วมน่าน หนักสุดในรอบ 100 ปี เขตเมืองยังอ่วม ระดับน้ำราว 2 เมตร [ มติชนออนไลน์ : 23 สิงหาคม 2567 เวลา 19.27 น.]

น้ำลดช้า ร้านค้า บ้านเรือนประชาชนเขตเทศบาลเมืองน่านยังจมน้ำ

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมใน เขตเทศบาลเมืองน่าน ระดับน้ำเริ่มลดลงแต่ค่อนข้างช้า โดยเย็นวันนี้ลดลงมาที่ระดับ 8.25 เมตร ต่ำกว่าระดับพนังกั้นน้ำไป 25 เซนติเมตร ส่งผลให้ถนนหลายสายน้ำลดต่ำ รถยนต์และรถจักรยานยนต์สามารถวิ่งสัญจรได้ ขณะที่บางจุด เช่น สี่แยกกิตติชัย ตลาดศรีคำ โรงเรียนบ้านศรีเสริมกสิกร ระดับน้ำยังคงสูงอยู่ที่ 1 เมตร

นอกจากนี้ ร้านค้า บ้านเรือนประชาชน 23 ชุมชนของเทศบาลเมืองน่าน ซึ่งอยู่ในแนวเขตริมน้ำกว่า 10 กิโลเมตร ยังมีน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร ประชาชนต้องไปอาศัยอยู่ชั้น 2 ของบ้าน หลายรายต้องขอความช่วยเหลือจากทีมกู้ภัยเข้ามารับเพื่อนำออกไปนอนโรงแรมที่น้ำไม่ท่วม เพราะบ้านถูกตัดไฟและห้องน้ำใช้งานไม่ได้ อีกทั้งไม่มีอาหารและน้ำดื่มตั้งแต่คืนที่ผ่านมา (22 สิงหาคม)

และจำนวนมากได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากญาติพี่น้องให้ช่วยนำน้ำดื่มและอาหารไปส่งให้ โดยมีทีมกู้ภัยจิตอาสาคอยรับส่งชาวบ้านตามจุดที่น้ำท่วมลึก และต้องการออกมาซื้อของใช้จำเป็น

ด้านหน่วยงานสาธารณสุขและ อสม.ตั้งศูนย์บริการตามจุดต่างๆ แจกยาสามัญประจำบ้าน รวมถึงยาโรคฉี่หนู ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 2 จุด ที่เทศบาลเมืองน่านและวัดภูเวียงใต้ ประชาชนสามารถเข้าไปขอยาป้องกันโรคฉี่หนูได้

ขณะที่เขตเศรษฐกิจในตัวเมืองน่านยังมีน้ำท่วมเป็นวงกว้าง รวมถึงโบราณสถานอย่าง วัดภูมินทร์ วัดเก่าแก่อายุมากกว่า 800 ปี ที่มีจิตรกรรมฝาผนังชื่อดังกระซิบรักบันลือโลก ปู่ม่านย่าม่าน ก็มีน้ำท่วมเข้าท่วมที่บริเวณโดยรอบอุโบสถ ระดับน้ำสูงประมาณ 40 เซนติเมตร แต่ไม่ได้สร้างความเสียหายให้แก่ตัวอุโบสถ หรือภายใน เนื่องจากอยู่สูงขึ้นไปอีกหลายเมตร

นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศบาลเมืองน่าน กล่าวว่า ปี 2567 น้ำมากกว่าทุกปี คาดว่าน้ำท่วมมากที่สุดในรอบ 100 ปี แม้จะมีบทเรียนจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2549 และทำพนังกั้นน้ำให้สูงกว่าเดิม แต่ปีนี้ก็ยังรับมือไม่ได้ อย่างไรก็ตาม พนังกั้นน้ำช่วยให้น้ำท่วมทุเลาลงและมีการใช้เครื่องสูบน้ำเสริมด้วย จึงทำให้น้ำท่วมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจน้อยกว่าปี 2549 จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าในพื้นที่ อ.เมือง มีชุมชนได้รับผลกระทบ 23 ชุมชน บ้านเรือนถูกน้ำท่วมมากกว่า 3,000 ครัวเรือน

ด้าน อ.เชียงกลาง ปัว และท่าวังผา ระดับน้ำลดระดับลงจนแห้งแล้ว เหลือเพียงที่บ้านดอนตัน และบ้านสบหนอง ต.ศรีภูมิ น้ำลดลง แต่ยังแห้งไม่หมด

เบื้องต้นป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่านสรุปพื้นที่ความเสียหายจากน้ำท่วม 11 อำเภอ 53 ตำบล 313 หมู่บ้าน และเตรียมพร้อมรับมือกับมวลน้ำที่ไหลลงสู่พื้นที่ตอนใต้ของจังหวัดคือ อ.เวียงสา





ปภ.จว.ลำปาง สรุปสถานการณ์ น้ำป่าหลาก3วัน กระทบ 400 หลังคาเรือน หนักสุดรอบ 13 ปี[ มติชนออนไลน์ : 30 สิงหาคม 2567 เวลา 13.13 น.]

ปภ.จังหวัด สรุปสถานการณ์ น้ำป่าหลาก 3 วันติด กระทบ 20 หมู่บ้าน 9 ตำบล ด้านหมู่บ้านท่องเที่ยวฯ เจอภัยหนักสุดในรอบ 13 ปี

จากกรณีพื้นที่ จ.ลำปาง หลังทำการสำรวจผลกระทบ จากฝนตกหนัก และทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ทางสำนักงานป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง รายงานว่า ประสบภัยมา 3 วันติด ซึ่งนอกจากพื้นที่ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง จำนวน 16 หมู่บ้านกระจายใน 6 ตำบล ที่จะประสบภัย มาตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา

โดยเมื่อวานนี้ (29 ส.ค.67) ก็มีพื้นที่ อ.งาว , อ.แจ้ห่ม และ อ.เถิน อีก 3 ตำบล 4 หมู่บ้านที่ประสบภัยน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน รวม 3 วัน ระหว่างวันที่ 27 – 29 สิงหาคม 2567 พื้นที่ จ.ลำปาง ประสบภัยทางธรรมชาติ จำนวน 20 หมู่บ้าน 9 ตำบล บ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบถูกน้ำท่วมไปกว่า 400 หลังคาเรือน

สำหรับพื้นที่ อ.วังเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่อำเภอทางตอนบนสุดของจังหวัด ติดกับ

จ.เชียงราย และพะเยา ถือว่าเกิดภัยอย่างหนัก ในวันที่ 28 สิงหาคม 2567 โดยเฉพาะที่หมู่บ้านปงถ้ำ ม.4 ต.วังทอง อ.วังเหนือ ซึ่งเป็นหมู่บ้านสุดท้าย ก่อนเข้าเขต จ.พะเยา โดยเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่อยู่ติดเทือกเขาอุทยานแห่งชาติดอยหลวง อยู่ใกล้ดอยหนอก แหล่งท่องเที่ยวยอดดอยชื่อดัง ที่ฤดูฝนปีนี้ ประสบภัยไปแล้วถึง 3 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา และอีก 2 ครั้ง ถล่มซ้ำในวันถัดมา

โดยชาวบ้าน บอกว่า เป็นภัยที่ไม่เคยเกิดขึ้นหนักแบบนี้มาก่อน ถือเป็นประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านที่เจอฝนถล่มหนัก และน้ำป่าทะลักลงมาถึง 2 วันซ้อน

โดย นายเสน่ห์ ซองดี ผู้ใหญ่บ้านปงถ้ำ เผยว่า จากการสำรวจ กระแสน้ำป่าท่วมบ้านหนัก 73 หลัง สิ่งของเครื่องใช้พังเสียหายหมด เพราะยกขึ้นที่สูงไม่ทัน ตลอดจนยังซัดสะพานในหมู่บ้านพัง ท่วมวัดในพื้นที่ ซึ่งถือว่าหนักกว่าเมื่อ 13 ปีก่อน หรือปี 2554 ซึ่งทางหมู่บ้านปงถ้ำ ก็วอนให้ทางจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาช่วยหาวิธีป้องกัน และแก้ไขปัญหาระยะยาว อยากให้

สร้างฝายเพิ่ม หรือแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่อรองรับน้ำป่า ไม่ให้ทะลักลงมาได้ง่าย เพราะปัจจุบันฝายที่มีอยู่ประตูระบายน้ำแคบเกินไป จึงระบายน้ำป่าที่ทะลักลงมามากไม่ไหว ก็ล้นท่วมหมู่บ้าน ซึ่งจากนี้ไป เกรงว่า ภัยธรรมชาติ จากฝนตกหนัก อาจจะรุนแรงมากขึ้น

สำหรับสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ขณะนี้ ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ระดับน้ำแห้งลง เหลือแต่เศษกิ่งไม้ เศษวัชพืช เศษสวะ และดินโคลนที่ไหลติดตามหมู่บ้าน และบ้านเรือน ซึ่งจะได้เร่งฟื้นฟูทำความสะอาดให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติต่อไป ซึ่งน่าจะใช้ระยะเวลาตลอดสัปดาห์นี้ ถึงจะกลับเป็นปกติ ส่วนโรงเรียนในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบ มี 2 แห่ง ที่โรงเรียนบ้านก่อ ต.วังทรายคำ และโรงเรียนบ้านแม่เย็น โรงเรียนบ้านแม่เย็น ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาปี 1 – 6 ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำปาง เขต 3 ก็มีการเร่งทำความสะอาด ฟื้นฟูพื้นที่เช่นกัน คาดว่าจะสามารถเปิดเรียนได้ตามปกติในช่วงสัปดาห์หน้า





เปิดภาพน้ำท่วมแพร่ ล่าสุด มวลน้ำ 'แม่น้ำยม' เอ่อท่วม 8 อำเภอ ประชาชนเดือดร้อน [ กรุงเทพธุรกิจ : 24 สิงหาคม 2567 เวลา 13.39 น.]

เปิดภาพน้ำท่วมแพร่ ล่าสุด มวลน้ำ "แม่น้ำยม" เอ่อท่วม 8 อำเภอ ประชาชนเดือดร้อนหนัก สถานการณ์น้ำท่วมวันนี้ 24 สิงหาคม 2567 ระดับน้ำเริ่มลดลง ชุมชนในตัวเมืองแพร่ ถนนหลายสาย สามารถกลับมาสัญจรได้ บ้านเรือนประชาชนบางส่วนน้ำลดลง เตรียมพร้อมทำความสะอาด

เปิดภาพ น้ำท่วมแพร่ ล่าสุด มวลน้ำ "แม่น้ำยม" เอ่อท่วม 8 อำเภอ 42 ตำบล ประชาชนเดือดร้อนหนัก สถานการณ์น้ำท่วมวันนี้ ระดับน้ำเริ่มลดลง ชุมชนในตัวเมืองแพร่ ถนนหลายสาย สามารถกลับมาสัญจรได้ บ้านเรือนประชาชนบางส่วนน้ำลดลง เตรียมพร้อมทำความสะอาด

โดยในวันนี้ 24 สิงหาคม 2567 มวลน้ำที่เอ่อล้นจากแม่น้ำยม ยังคงท่วมหลายหมู่บ้านในเขตอำเภอเมือง จ.แพร่ ประชาชนยังคงได้รับความเดือดร้อน มีความยากลำบากในการดำรงชีพ อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น เนื่องจากระดับน้ำเริ่มลดลง

ขณะเดียวกัน มีรายงานจาก "ปภ. จังหวัดแพร่" รายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดแพร่ ครั้งที่ 5 พื้นที่ประสบภัย 8 อำเภอ 42 ตำบล 185 หมู่บ้าน 15 ชุมชน

โดยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแพร่ รายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดแพร่ ครั้งที่ 5 ดังนี้

ตามที่ได้เกิดร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศตำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนบน

ประกอบกับมีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้ และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนตกสะสมที่ต้องเฝ้าระวัง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม และน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่

รายงานสถานการณ์ฝนตกหนักจังหวัดแพร่ ช่วงวันที่ 21-23 สิงหาคม 2567

เมื่อวันที่ 21-23 สิงหาคม 2567 ได้เกิดฝนตกหนักในพื้นพื้นที่จังหวัดแพร่ และปริมาณน้ำจากอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ที่ไหลเข้าสู่พื้นที่จังหวัดแพร่ ทำให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งล้ำน้ำยม ท่วมบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตร

เบื้องต้นได้รับผลกระทบ จำนวน 8 อำเภอ 42 ตำบล 185 หมู่บ้าน 10,517 ครัวเรือน 15 ชุมชน

สะพานขาด สะพานข้ามลำน้ำยม อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ประชาชนไม่สามารถสัญจรได้

สะพานข้ามลำน้ำยม บริเวณบ้านวังดิน หมู่ 9 ตำบลบ้านกลาง อำเภอสอง ขาดไม่สามารถสัญจรได้ ซึ่งแขวงทางหลวงชนบทแพร่ ได้ปิดการสัญจรโดยให้เลี่ยงให้เส้นทางอื่น โดยสำนักทางหลวงที่ 17 เชียงราย จะมาดำเนินการติดตั้งสะพานแบรี่ ต่อไป

ตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ กรณีอุทกภัย ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่ลานวัฒนธรรม อบจ.แพร่

จังหวัดแพร่ ได้ตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ กรณีอุทกภัย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่ลานวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ เพื่อการบัญชาการเหตุการณ์ให้เป็นไป

อย่างมีเอกภาพ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม และรับแจ้งความช่วยเหลือจากประชาชนผู้ประสบภัย

โดยมีกำลังพล จากมณฑลทหารบกที่ 35 กองพันทหารม้าที่ 12 กองพลทหารม้าที่ 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดแพร่ ที่พร้อมออกไปช่วยเหลือทันทีที่ได้รับแจ้ง

โดยสามารถโทรขอความช่วยเหลือได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 054 520 900

ขณะเดียวกัน ได้เปิดเป็นศูนย์รับบริจาคสิ่งของ น้ำ อาหาร และมีหน่วยรักษาพยาบาล เพื่อคอยช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง

อัปเดต สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดแพร่ วันที่ 24 สิงหาคม 2567

สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดแพร่ วันที่ 24 สิงหาคม 2567 ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ชุมชนในตัวเมืองแพร่ ถนนหลายสาย สามารถกลับมาสัญจรได้

บ้านเรือนประชาชนบางส่วนน้ำเริ่มลดลง เตรียมพร้อมที่จะทำความสะอาด คาดว่าชุมชนส่วนใหญ่ไม่เกินวันที่ 25 สิงหาคม สถานการณ์ในตัวจังหวัดแพร่ น่าจะคลี่คลายลง

ในส่วนของพื้นที่ด้านในเมืองเก่า บริเวณศาลากลางจังหวัดแพร่ อำเภอเมืองแพร่ ซึ่งประสบอุทกภัยภายหลังเนื่องจากน้ำในแม่น้ำยมได้ซึมเข้าไปในตัวเมืองเก่า และไม่สามารถระบายออกได้อาจจะต้องใช้เวลาสูบออก





หาคำตอบ! สาเหตุน้ำท่วมหนัก 5 จังหวัดภาคเหนือช่วงส.ค. [ ThaiPBS : 26 สิงหาคม 2567 เวลา 18.53 น.]

กรมอุตุนิยมวิทยา ไขคำตอบเหตุ 5 จังหวัดภาคเหนือน้ำท่วมอ่วมหนักช่วงเดือนส.ค.เหตุฝนตกหนักจากร่องมรสุมพาดผ่านช่วงวันที่ 17-24 ส.ค.นี้ จุดพีคสุด "สุโขทัย"น้ำยมเหลือ 10 ซม.ล้นตลิ่ง เตือนต่อ 30 ส.ค.-5 ก.ย.น้ำทะเลหนุน

สถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ 5 จังหวัดแต่เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ และสุโขทัยที่วิกฤตมาตั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา วันนี้ (26 ส.ค.2567) เมื่อเวลา 15.45 น.เทศบาลตำบลหาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย อัปเดตระดับน้ำแม่น้ำยมที่ไหลผ่านสูงเพิ่มอีก 20 เซนติเมตร อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย โดยระดับน้ำเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 11.50 เมตร (ล้นตลิ่ง 12.00 เมตร)

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา เผยสาเหตุของการเกิดน้ำท่วมหนัก ในพื้นที่ภาคเหนือเดือนส.ค.2567 โดยระบุว่า จากอุทกภัยรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคเหนือตอนบนซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของ จ.เชียงราย น่าน พะเยา แพร่

ช่วงเดือน ส.ค.ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดจากฝนที่ตกต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค.67 และปริมาณฝนเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 17 21 ส.ค.ที่ผ่านมา เพราะอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านทางตอนบนของภาคเหนือ

ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยในระยะนี้มีกำลังอ่อนถึงปานกลางและมีกำลังค่อนข้างแรงเป็นบางช่วง จึงทำให้เกิดฝนตกต่อเนื่องได้เกือบทุกวันและตกหนักถึงหนักมากในบางวัน

ดยเฉพาะอย่างยิ่งฝนที่ตกในพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูง ทำให้มีปริมาณฝนตกสะสมเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเกิดเป็นน้ำท่าที่มีโปริมาณมหาศาลไหลลงสู่ลุ่มน้ำหลักและลุ่มน้ำสาขาต่างๆ อย่างรวดเร็ว แม้ขณะนี้สถานการณ์ฝนที่ตกหนักเริ่มลดลงบ้างแล้ว

ในทางตอนบนของภาคเหนือ แต่ยังต้องระวัง

กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า มวลน้ำที่ยังไหลในลุ่มน้ำต่างๆ ที่จะเริ่มทยอยลงมาเรื่อยๆการคาดหมายสภาพอากาศในช่วงสัปดาห์(26-29 ส.ค.)ต้องติดตามประกาศจาก กรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

เนื่องจากคาดว่าร่องมรสุมที่พาดผ่านทางบนของภาคเหนือจะเริ่มเลื่อนต่ำลง มาพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น จึงทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักในพื้นที่ของภาคเหนือตอนบน ภาคอีสานตอนบน ภาคตะวันออก ภาค กลาง กทม.และปริมณฑล อีกระยะ

สำหรับภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยมีฝนตกหนักถึงมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก (อันดามัน) และคลื่นลมจะมีกำลังแรงขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศดังกล่าวยังคงทำให้พื้นที่ที่เคยมีน้ำท่วมขังในภาคเหนือยังมีความเสี่ยงเกิดอุทกภัยในระยะนี้

และพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยสูง ได้แก่ ภาคเหนือ จ.เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ส่วนภาคตะวันออก ได้แก่ จ.จันทบุรี และตราด คลื่นลมมี กำลังแรง ระวังคลื่นซัดฝั่ง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้

กางสถิติฝน 17-24 ส.ค.67

กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่าสถิติฝนในภาคเหนือวันที่ 17-24 ส.ค.มีดังนี้

17 ส.ค.ฝนตกสูงสุด วัดได้ 56 มม.ที่อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก
18 ส.ค.ฝนตกสูงสุด วัดได้ 28 มม.ที่อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
19 ส.ค.ฝนตกสูงสุด วัดได้ 56. มม.ที่อ.เมือง จ.เชียงราย และอ.เมือง จ.พะเยา
20 ส.ค.ฝนตกสูงสุด วัดได้ 81.1 มม.ที่อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน
21 ส.ค.ฝนตกสูงสุด วัดได้ 109.3 มม.ที่อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน
22 ส.ค.ฝนตกสูงสุด วัดได้ 62 มม.ที่อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล อ.แม่ทา จ.ลำพูน
23 ส.ค.ฝนตกสูงสุด วัดได้ 74.7 มม.ที่อ.เมืองง จ.เชียงราย
24ส.ค.ฝนตกสูงสุด วัดได้ 32.3 มม.ที่อ.ท่าวังผา จ.น่าน

เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง 30 ส.ค.-5 ก.ย.นี้

นอกจากนี้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ออกประกาศเตือนเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงช่วงวันที่ 30 ส.ค.-5 ก.ย.นี้ เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง คาดว่าจะมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น

อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ และแนวเขื่อนชั่วคราว บริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) พื้นที่จ.สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี กทม.สมุทรปราการ คาดว่าระดับน้ำบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ จ.สมุทรปราการ จะมีความสูง 1.7-2 เมตร





ชลประทานพิษณุโลกเตือน ปชช.ที่อาศัยอยู่ไกล้กับตลิ่งแม่น้ำระวังน้ำหลาก [ แนวหน้า : 27 สิงหาคม 2567 เวลา 12.02 น.]

ชลประทานพิษณุโลก เตือนประชาชนเฝ้าระวังโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ไกล้กับตลิ่งแม่น้ำ พร้อมให้ติดตามสถานการณ์และตรวจสอบจุดที่ตลิ่งต่ำ ควรเสริมคันคลองให้มีความแข็งแรง

วันที่ 27 สิงหาคม 2567 นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก พร้อมด้วยหัวหน้าฝ่าย ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ ณ ห้องประชุม SWOC โครงการชลประทานพิษณุโลก เพื่อดำเนินการวางแผน คาดการณ์ เตรียมความพร้อม ประเมินและสรุปสถานการณน้ำ ในช่วงฤดูฝน ปี 2567

แม่น้ำน่านและแม่น้ำสาขา สถานการณ์โดยรวมปกติ โดยสถานการณ์ต้องเฝ้าระวังได้แก่ แม่น้ำที่มีพื้นที่ต้นน้ำมีความลาดชันสูง หากมีปริมาณฝนตกชุกในพื้นที่ เกินกว่า 50 มม.ต้องเร่งแจ้งเตือนประชาชนให้ระวังน้ำป่าไหลหลาก

แม่น้ำยมสายหลัก และแม่น้ำยมสายเก่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและเข้าสู่สถานการณ์วิกฤตระดับมาก เสี่ยงน้ำเอ่อล้นตลิ่งจากสถานการณ์ฝนตกชุกพื้นที่ต้นน้ำแม่น้ำยม จ.แพร่ และ จ.สุโขทัย และคาดการณ์ปริมาณน้ำมากที่จะไหลเข้าสูแม่น้ำยมในเขต อ.พรหมพิราม และ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2567 เป็นต้นมา

โดยในส่วนการเตรียมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ได้เพิ่มการระบายน้ำสูงสฺดของประตูระบายน้ำแม่น้ำยมสายหลัก อ.บางระกำ (ปตร.วังสะตือ,ปตร.ท่านางงาม,ปตร.ท่าแห) และเพิ่มการระบายน้

ำแม่น้ำยมลงสู่แม่น้ำน่าน ผ่านทางคลองผันน้ำยมน่าน, คลองระบาย DR-2.8 และ คลอง DR-15.8 รวมทั้งดำเนินการพร่องน้ำในแม่น้ำยมสายเก่า อ.พรหมพิราม และ อ.บางระกำ

ปัจจุบันเริ่มรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำโครงการบางระกำโมเดล เพื่อรองรับปริมาณน้ำจากพื้นที่แม่น้ำยมตอนบน และลดผลกระทบอุทกภัย โดยตั้งแต่ 15 ส.ค.- 15 ต.ค. 67 พื้นที่ภาคเหนือ จะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนตกชุกหนาแน่น สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติและกรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์สภาพภูมิอากาศ และประกาศแจ้งเตือน! เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก) ในช่วง ตั้งแต่วันที่ 26-30 ส.ค. 67 ต้องเฝ้าระวังฝนตกหนัก ฝนตกสะสม อาจเกิดน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ และน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากน้ำในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง โดยในจังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ อ.นครไทย (แม่น้ำแควน้อย) อ.วังทอง (แม่น้ำวังทอง) อ.เนินมะปราง และ อ.บางกระทุ่ม (แม่น้ำชมพู) อ.บางระกำ, อ.พรหมพิราม (แม่น้ำยม และ แม่น้ำยมสายเก่า)

ดังนั้น ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เฝ้าระวังดังกล่าวโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ไกล้กับตลิ่งแม่น้ำให้ติดตามสถานการณ์พร้อมเฝ้าระวังและตรวจสอบจุดที่ตลิ่งต่ำควรเสริมคันคลองให้มีความแข็งแรง และเตรียมความพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และระมัดระวังไฟฟ้าที่อยู่ในที่ต่ำน้ำท่วมถึง อีกทั้งขอความร่วมมือเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม ในฤดูน้ำหลาก และเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตหากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะในพื้นที่โครงการบางระก

ำโมเดล ควรชะลอหรืองดทำการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องมีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมหลากทำให้ผลผลิตเสียหาย

สำหรับสถานการณ์แม่น้ำน่านแม่น้ำน่าน สถานการณ์น้ำ ระดับน้ำเพิ่มขึ้น (สถานีวัดน้ำ N.5A ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง -5.83 เมตร)-สถานการณ์ ปกติ
แม่น้ำสาขา ได้แก่ แม่น้ำภาค อ.ชาติตระการ ระดับน้ำเพิ่มขึ้น (สถานีวัดน้ำ N.55 ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง -3.73 เมตร)-สถานการณ์ปกติ
แม่น้ำแควน้อย อ.นครไทย ระดับน้ำลดลง (ที่สถานีวัดน้ำ N.36 ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง -2.60 เมตร)-สถานการณ์ เฝ้าระวัง
แม่น้ำวังทอง อ.วังทอง ระดับน้ำลดลง (สถานีวัดน้ำ N.24A ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง -5.54 เมตร)- สถานการณ์ปกติ
แม่น้ำชมพู อ.เนินมะปราง ระดับน้ำลดลง (สถานีวัดน้ำ N.43A ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง -5.31 เมตร)-สถานการณ์ปกติ

สถานการณ์แม่น้ำยม แม่น้ำยมสายหลัก ที่ไหลผ่าน อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ระดับน้ำเพิ่มขึ้น (ที่สถานีวัดน้ำ Y.64 ปริมาณน้ำไหลผ่าน 345 ลบ.ม/วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง -0.30 เมตร/ ต่ำกว่าระดับวิกฤติ เขตชุมชน 1.20 เมตร)-สถานการณ์ เฝ้าระวัง แม่น้ำยมสายเก่า ที่ไหลผ่าน อ.พรหมพิราม และ อ.บางระกำ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 260 ลบ.ม/วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ -0.30 เมตร/ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สถานการณ์เฝ้าระวังน้ำเอ่อล้นตลิ่ง(เสริมคันป้องกัน) ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีทุ่งหน่วงน้ำบางระกำโมเดล ปัจจุบันเก็บเกี่ยวแล้ว 100 % และเริ่มรับน้ำเข้าทุ่งแล้ว





น้ำท่วมสุโขทัย2567 วันนี้ ส่งผลกระทบใน 4 อำเภอ คืออำเภอ ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ศรีสำโรง และอำเภอเมือง [ news.ch7.com : 27 สิงหาคม 2567 เวลา 16.54 น.]

น้ำท่วมสุโขทัย2567 วันนี้ ส่งผลกระทบใน 4 อำเภอ คืออำเภอ ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ศรีสำโรง และอำเภอเมือง มี 23 ตำบล 104 หมู่บ้าน 3,565 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 15,979 ไร่

27 สิงหาคม 2567 พนังกั้นน้ำริมแม่น้ำยม ในพื้นที่ ม.6 ต.ท่าทอง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย พังถล่มเป็นระยะทางยาวเกือบ 10 เมตร หลังจากที่น้ำได้กัดเซาะดินใต้

พื้นจนเป็นโพร่ง ก่อนที่พนังกั้นจะพังถล่มลงทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมบ้านของประชาชน เสี่ยงมีบ้าน 1 หลังที่เสี่ยงจะพังถล่ม เพราะอยู่ในจะรับกระแสน้ำโดยตรง และน้ำยังคงไหลเชี่ยวและแรง กู้ภัยต้องเร่งอพยพผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และเด็กอยู่ไปนามศูนย์อพยพ ตามวัดต่างๆ

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดสุโขทัย วันนี้ ส่งผลกระทบใน 4 อำเภอ คืออำเภอ

ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ศรีสำโรง และอำเภอเมือง มี 23 ตำบล 104 หมู่บ้าน 3,565 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 15,979 ไร่

ขณะที่กู้ภัยมูลนิธิต่างๆ ระดมเข้าพื้นที่ พร้อมเรือท้องแบน เพื่อนำข้าวกล่อง น้ำดื่มเข้าไปแจกจ่าย เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ยอมอพยพออก อาศัยอยู่บนชั้น 2 ของบ้าน





ปภ.เชียงใหม่ สรุปเหตุอุทกภัยในจังหวัดเชียงใหม่ [ เชียงใหม่นิวส์ : 28 สิงหาคม 2567 ]

สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ ขอรายงานเหตุฝนตกหนักและอุทกภัยในพื้นที่ วันที่ 27 สิงหาคม 2567 เป็นเหตุให้เกิดน้ำไหลหลาก ในพื้นที่อำเภอฝาง และอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ รวม 2 อำเภอ 4 ตำบล 13 หมู่บ้าน ดังนี้

1. อำเภอฝาง จำนวน 3 ตำบล 12 หมู่บ้าน
1.1 ตำบลแม่งอน ม.1 ,2 ,6 ,7 , 10, 11, 12, 13, 14, 15 น้ำแม่งอนไหลหลากทะลัก เข้าท่วมบ้านเรือน พื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหาย และถนนทำให้รถเล็กไม่สามารถสัญจรไปได้ ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ

1.2 ตำบลสันทราย ม.5 น้ำป่าไหลหลาก (ลำน้ำห้วยงู) เข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตร (นาข้าว) ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ
1.3 ตำบลเวียง ม.3 ลำน้ำล้นเข้าท่วมบริเวณถนน และเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ฝ่ายปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือ

2. อำเภอเชียงดาว 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน 15 ครัวเรือน ตำบลเมืองนะ บ้านอรุโณทัย ม.10 ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักระบายไม่ทันเอ่อล้นเข้าบ้านเรือน

ประชาชน จำนวนประมาณ 15 ครัวเรือน การให้ความช่วยเหลือ ผู้ว่าฯ สั่งการ นายอำเภอฝาง และอำเภอเชียงดาว กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับ อปท. ดำเนินการสำรวจความเสียหายและดำเนินการช่วยเหลือในเบื้องต้น

สถานการณ์ ปัจจุบันคลี่คลายแล้ว ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต