ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่อง 2 วัน ทำให้นราธิวาสประสบกับอุทกภัยระลอกใหม่ ท่วมแล้วรวม 13 อำเภอแล้วได้รับความเสียหาย เบื้องต้นหนักสุดจำนวน 8 อำเภอ 39 ตำบล 115 หมู่บ้าน ถนนน้ำท่วมเสียหาย 28 สาย
เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 65 จากประกาศศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ฉบับที่ 5 (6/2565) เรื่อง คลื่นลมแรง และฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุม อ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณนอกชายฝั่ง ทางตะวันออกของประเทศมาเลเซีย มีแนวโน้มเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศมาเลเซียและภาคใต้ตอนล่าง ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนในพื้นที่ 13 อำเภอของ จ.นราธิวาส อย่างรวดเร็วในห้วง 2 วันที่ผ่านมา (24-25 กุมภาพันธ์ 2565) ประกอบด้วย อ.เมืองนราธิวาส อ.ระแงะ อ.จะแนะ อ.บาเจาะ อ.ยี่งอ อ.รือเสาะ อ.ศรีสาคร อ.สุไหงโก-ลก อ.แว้ง อ.สุคิริน อ.สุไหงปาดี อ.ตากใบ และ อ.เจาะไอร้อง โดยพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำในห้วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งระดับน้ำที่ท่วมขังสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 2 เมตร ส่งผลให้บ้านเรือนของประชาชนถูกน้ำท่วมขัง อีกทั้งถนนหนทางหลายสายถูกตัดขาดโดยเฉพาะเส้นทางสายรองในหมู่บ้านต่างๆ โดยอำเภอที่
ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ได้แก่ อ.เจาะไอร้อง อ.สุไหงปาดี อ.สุไหงโก-ลก อ.ศรีสาคร อ.จะแนะ อ.ระแงะ อ.แว้ง อ.สุคิริน เป็นต้น ที่น้ำจากเทือกเขาไหลลงมาสมทบ ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมของอุทกภัยในครั้งนี้เบื้องต้นหนักสุดจำนวน 8 อำเภอ 39 ตำบล 115 หมู่บ้าน
ทั้งนี้รายงานฝนตกหนักถึงหนักมาก รายอำเภอของจังหวัดนราธิวาส ข้อมูล ณ วันที่ 25 ก.พ.65 เวลา 07.00-19.00 น. ดังนี้ 1.อ.ยี่งอ วัดได้ 115.8 มม. 2.อ.บาเจาะ วัดได้ 151.0 มม. 3.สนามบินนราธิวาส วัดได้ 87.4 มม. 4.อ.สุไหงโก-ลก วัดได้ 223.0 มม. 5.ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส วัดได้ 81.4 มม. 6.อ.ระแงะ วัดได้ 146.2 มม. 7.อ.สุคิริน วัดได้ 243.4 มม. 8.อ.สุไหงปาดี วัดได้ 254.8 มม. 9.อ.เจาะไอร้อง วัดได้ 265.2 มม. 10.อ.แว้ง วัดได้ 221.4 มม. 11.อ.เมือง (สถานีอุตุฯ) วัดได้ 74.6 มม. 12.อ.รือเสาะ วัดได้ 254.4 มม. 13.อ.จะแนะ วัดได้ 284.2 มม. 14.อ.ตากใบ วัดได้ 46.0 มม. 15.อ.ศรีสาคร วัดได้ 248.0 มม. 16.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง วัดได้ 73.6 มม
รายงานความเสียหายมีบ้านเรือนเสียหายบางส่วน 6,851 หลัง ความเสียหายด้านการเกษตร บ่อปลา 8 ไร่ โค 4 ตัว พืชสวน 2,582 ไร่ สิ่งสาธารณประโยชน์ ถนนเสียหาย 28 สาย สถานที่ราชการ โรงเรียน
3 แห่ง มัสยิด 1 แห่ง สำหรับแนวโน้มสถานการณ์แม่น้ำทั้ง 3 สายเป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัดนราธิวาสคือ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำสุไหง-โกลก ทั้ง 3 สายนี้ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง
ล่าสุด นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้ออกหนังสือเร่งด่วน ไปยังนายอำเภอทุกอำเภอ รวมทั้งประชาสัมพันธ์จังหวัดนราธิวาส ผอ.สถานีวิทยุกระจายเสียงทุกแห่งในพื้นที่ ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขานราธิวาส ประมงจังหวัดนราธิวาส หัวหน้าด่านตรวจประมงนราธิวาส เพื่อเตรียมความพร้อม เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ดังกล่าว ในช่วงระหว่างวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยขอให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ ทุกอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ แจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการ เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกหนัก ปริมาณฝนสะสม และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ โดยพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ชุมชนเมือง พื้นที่ติดแม่น้ำลำคลอง อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง พื้นที่ลาดเชิงเขาอาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก
วันที่ 24 ก.พ.65 สถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ จ.ยะลา หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกแจ้งเตือนพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างให้เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน ระหว่างวันที่ 24-26 ก.พ.65 ทางจังหวัดยะลา ได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงให้ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยพื้นที่เสี่ยงน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ของ อ.ยะหา อ.กาบัง อ.บันนังสตา อ.กรงปินัง อ.ธารโต และ อ.เบตง พื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งริมแม่น้ำปัตตานี อ.บันนังสตา อ.กรงปินัง และ อ.เมืองยะลา รวมทั้งริมแม่น้ำสายบุรี อ.รามัน ริมคลองยะหา อ.ยะหา ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ได้ออกประกาศเตือนภัยน้ำท่วม ฉบับที่ 1ว่า เนื่องด้วยได้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 24 - 26 กุมภาพันธ์ 2565 โดยวัดปริมาณ น้ำฝนในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาได้ ด้งนี้ อำเภอเมืองยะลา 178.0 มิลลิเมตร อำเภอรามัน 297.20 มิลลิเมตร อำเภอบันนังสตา 236.20 มิลลิเมตร อำเภอธารโต 207.40 มิลลิเมตร อำเภอเบตง 61.80 มิลลิเมตร อำเภอกรงปีนัง 269.60 มิลลิเมตร
อำเภอยะหา 164.40 มิลลิมตร และอำเภอกาบัง 147.0 มิลลิเมตร ทำให้น้ำในแม่น้ำปัตตานีมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ปริมาณน้ำฝนจากพื้นที่เขตเทศบาลนครยะลา ตำบลบุดี และสะเตงนอก ก็ไหลสู่คลองแบเมาะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้น้ำในบึงแบเมาะมีปริมาณเพิ่ม มากขึ้น ประกอบกับศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้ประกาศเตือนว่าจะยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากต่อเนื่องจนถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 ดังนั้น เทศบาลนครยะลาจึงขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มที่ เคยประสบภัยในเขตเทศบาลนครยะลา เช่น พื้นที่ชุมชนหลังวัดยะลาธรรมาราม ชุมชนวิฑูรอุทิศสัมพันธ์ (ซอย10) ชุมชนหลังโรงเรียนเทศบาล 5 ชุมชนจารูนอก ชุมชนเมืองทอง ชุมชนเสรี ชุมชนธนวิถี และชุมชนหลังโรงเรียนจีน โปรดขนย้ายสิ่งของขึ้นไว้ในบริเวณที่สูง และระมัดระวังปลั๊กไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดแก่ชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงเฝ้าระวังติดตามข่าวสารจากเทศบาลนครยะลาอย่างต่อเนื่อง หากต้องการความช่วยเหลือสามารถแจ้งได้ที่งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลนครยะลาได้ทันที
ขณะที่ในพื้นที่ ต.ละแอ อ.ยะหา จ.ยะลา มีน้ำป่าเข้าท่วมเส้นทาง สวนยางพาราใน
หมู่บ้านละแอ บ้านกียา บ้านซะเม๊าะ บ้านตาเปาะ โดยมวลน้ำดังกล่าวเป็นมวลน้ำสะสมของปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่ ทำให้พี่น้องประชาชนได้ขนย้ายสิ่งของหนีน้ำในช่วงกลางดึกที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งขณะนี้ทางผู้นำท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ทหารพรานที่ 47 ได้เข้าให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว โดยมวลน้ำจาก ต.ละแอ อ.ยะหา จะไหลลงสู่พื้นที่บ้านเนียง อ.เมืองยะลา อาจจะทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีน้ำท่วมฉับพลัน จึงได้แจ้งเตือนไปยังพื้นที่ข้างเคียง โดยเฉพาะพื้นที่ติดแม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรี ได้แก่ อ.รามัน บันนังสตา กรงปินัง และ อ.เมืองยะลา ซึ่งอาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้
อย่างไรก็ตาม ทางอำเภอยะหาได้ประสานไปยังทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อบต.ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมได้มีความพร้อมตลอดทั้งวันและคืนนี้ หากยังคงมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ต้องมีการอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่เสี่ยงได้ทันท่วงที สำหรับการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนนั้น ทางสำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา ได้นำเรือท้องแบนมาเตรียมความพร้อมอยู่แล้ว ส่วนเครื่องอุปโภคบริโภคได้มีการเตรียมการไว้แล้ว สามารถที่จะแจกจ่ายได้ทันทีหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
ยะลา - คืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วม จ.ยะลา ล่าสุดหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ด้านผู้ว่าฯ ยะลา รุดลงพื้นที่น้ำท่วมหนัก กำชับเจ้าหน้าที่บูรณาการช่วยเหลือประชาชน
วันนี้ (27 ก.พ.) สถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ จ.ยะลา ล่าสุดทั้ง 8 อำเภอได้รับผลกระทบแล้ว มีประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน โดย นายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอรามัน ตำรวจ ทหาร นายก อบต.บาลอ อ.รามัน ได้ลงพื้นที่สำรวจความเดือดร้อนที่หมู่ 4 ต.บาลอ อ.รามัน จ.ยะลา ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากแม่น้ำสายบุรี ที่น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่หลายหมู่บ้านใน ต.บาลอ นอกจากนี้ ต.กายูบอเกาะ ต.อาซ่อง ต.ตะโลหะลอ ต.วังพญา ต.ท่าธง
ซึ่งในเบื้องต้นนั้น ผู้ว่าฯ ยะลา สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ผู้นำชุมชนจัดตั้งจุดประกอบอาหาร เพื่อแจกจ่ายช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก
ขณะที่ในเขต อ.เมืองยะลานั้น ปริมาณน้ำในแม่น้ำปัตตานีที่ไหล่ผ่านตัวเมืองยะลา ได้มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนบ้านลิมุด บ้านสาคอ บ้านท่าสาป ต.ท่าสาป บ้านบาโด บ้านทุ่งเหรียง ต.ยุโป อ.เมืองยะลา ซึ่งทำให้ประชาชนหลายครัวเรือนได้รับความเดือดร้อนแล้ว
ส่วน ต.สะเตงนอก ยังมีน้ำท่วมในหลายจุดที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำรองรับน้ำ ในส่วนของเขตเทศบาลนครยะลา กำลังเร่งระบายน้ำจากในเขตตัวเมืองลงสู่แม่น้ำปัตตานี เพื่อไม่ให้ระดับน้ำในพื้นที่เขตสะเตงนอกเพิ่มสูงขึ้น
ขณะเดียวกัน มีรายงานจาก อ.บันนังสตา จ.ยะลา ที่หมู่บ้านตลาดนิคม หมู่ 6 ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา ว่าเกิดเหตุดินบนเขาปกโย๊ะได้ไหลลงมาทับถนนทางขึ้นเขา ทำให้ถนนถูกตัดขาด มีเจ้าหน้าที่ดูแลเสาสัญญาณบนเขาปกโย๊ะติดอยู่บนเขา ชาวบ้านและผู้นำชุมชนได้เข้าตรวจสอบ พร้อมประสานกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร หน่วยเฉพาะกิจที่ 15 หน่วยทหารจากกองพันทหารราบที่ 152 เข้าดำเนินการช่วยเหลือ
นอกจากนี้ ยังพบว่าจากสถานการณ์ที่ฝนตกหนักทำให้เส้นทางในหมู่บ้านถูกน้ำกัดเซาะได้รับความเสียหาย บางหมู่บ้านถูกตัดขาดยังไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้
วันที่28 ก.พ. 2565 สภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดปัตตานี พบว่าบางพื้นที่ยังคงมีฝนตกลงมา หนักมากในบางพื้นที ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานีปรากฏว่ามีระดับน้ำที่สูง เนื่องจากมีมวลน้ำจากจังหวัดยะลาได้ไหลลงสู่แม่น้ำปัตตานี ก่อนไหลลงสู่ทะเล ทำให้มวลน้ำดังกล่าวได้เอ่อล้นและเข้าท่วมในพื้นที่ต่ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำปัตตานี เช่นเดียวกับพื้นที่ ม.1 ม.2 ม.3 บ้านจางา ต.ปะกาฮารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำ น้ำในแม่น้ำปัตตานีได้เอ่อล้นเข้าท่วมหมู่บ้าน กว่า 500 ครัวเรือน ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือนร้อนอย่างหนัก รถทุกชนิดสัญจรไปมาด้วยความยากลำบาก บางจุดมีน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตรชาวบ้านต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทางเข้าออก
ทั้งนี้น้ำท่วมดังกล่าวยังส่งผลให้พื้นที่การเกษตรของชาวบ้านยังได้รับความ
เสียหายกว่าหลายร้อยไร่ ขณะนี้ชาวบ้านได้นำรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ไปจอดไว้ที่สูง เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยง วัวแพะ แกะ นำไปตั้งที่สูงเช่นกัน
อย่างไรก็ตามระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากยังมีมวลน้ำจจากจังหวัดยะลาจำนวนมากยังคงไหลสู่แม่น้ำปัตตานีอย่างต่อเนื่อง จังหวัดปัตตานีได้แจ้งเตือนชาวบ้านให้ระมัดระวังในการสัญจรด้วยเรือ และให้รีบนำเครื่องใช้ ยานพาหนะ และสัตว์เลี้ยงขึ้นไปไว้ในที่ปลอดภัย
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับน้ำท่วมจากการเอ่อล้นของแม่น้ำปัตตานี โดยเฉพาะในพื้นทีต.ปะกาฮารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี เป้นพื้นทีแรกที่น้ำท่วม เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่ำสุด และยังคงเป็นปัญหาซ้ำซาก
ชาวบ้านหลายครัวเรือนต้องได้รับความเดือนอย่างหนัก ชาวบ้านวอนให้เจ้าหน้าทีรัฐช่วยแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะทรัพย์ต้องเสียหายมาโดยตลอด ซึ่งขนะนี้รับได้มีโครงการสร้างเขือนริมแม่น้ำปัตตานี จะแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวได้หรือไม่นั้น จะต้องมีการติดตามต่อไป
นางสาวอามารีนี นีสา เปิดเผยว่า ในหมู่บ้านมีน้ำท่วมสูงมาก โดยมีระดับน้ำอยู่ที่เอว ซึ่งต.ปะกาฮารังแห่งนี้มีปัญหาน้ำเอ่อล้นตลิ่งทุกปี ทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านที่อยู่ติดกับแม่น้ำปัตตานีได้รับความเดือนร้อนหนักจากน้ำท่วม การสันจรไปมาไม่ได้ จะไปไหนก็ต้องออกกับเรือ จักรยานยนต์จะต้องจอดอยู่ข้างนอก ซึ่งไกลจากหมู่บ้านมาก ตอนนี้หน่วยงานรัฐกำลังสร้างเขือนกั้นบริเวณริมแม่น้ำ แต่ยังสร้างไม่เสร็จ เมื่อสร้างเสร็จคาดว่าปัญหาก็จะหมดไป
คืบหน้าน้ำท่วมภาคใต้ "มูโนะ" ยังวิกฤติ กำแพงโรงพักถูกกระแสน้ำพัดพัง ซ้ำทางเข้าออกเหมือนเมืองบาดาล ส่วนเจ้าหน้าที่ร่วมชาวบ้านเร่งหาศพชายขับรถตกคอสะพาน
วันที่ 28 ก.พ. 2565 มีรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับสภาวะน้ำท่วมจากพื้นที่ จ.นราธิวาส แจ้งว่า ล่าสุดยังคงมีฝนตกลงมาเป็นช่วงๆ แต่ไม่หนักมากนักเหมือน 2 ถึง 3 วันที่ผ่านมา แต่สภาวะน้ำท่วมโดยภาพรวมทั้ง 13 อำเภอ มีปริมาณน้ำท่วมขังเริ่มลดระดับลง ยกเว้นอำเภอแว้งและสุไหงโก-ลก ยังถือว่าไม่พ้นวิกฤติ เนื่องจากเป็นพื้นที่รองรับมวลน้ำจากต้นน้ำป่า อ.สุคิริน ได้ไหลระบายเพื่อลงสู่ทะเลด้านปากอ่าวของ อ.ตากใบ
โดยภาพรวมมีปริมาณระดับน้ำลดตลิ่งโดยเฉลี่ย 1 เมตร และจากมวลน้ำก้อนนี้ที่ไหลผ่าน อ.แว้งและสุไหงโก-ลก ล่าสุดในช่วงคืนที่ผ่านมา กระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวเพื่อระบายลงสู่ปากอ่าวทะเลด้าน อ.ตากใบ ได้พังกำแพงรั้วด้านหลังของสถานีตำรวจภูธรมูโนะ ซึ่งอยู่ด้านในของแนวกันดินพังเสียหาย 1 จุด จนกระแสน้ำไหลทะลักเข้าท่วมสถานีตำรวจภูธรมูโนะอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำท่วมขังสถานีตำรวจภูธรมูโนะและตลาดมูโนะเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย แต่โชคดีที่เจ้าหน้าที่ได้ใช้รถ เจ.ซี.บี. ขุดเจาะเกาะกลางของถนนเส้นทางดังกล่าว เพื่อทำการระบายน้ำมวลดังกล่าว ให้ไหลระบายไปฝั่งตกกันข้าม
ล่าสุดปริมาณน้ำท่วมขังสถานีตำรวจภูธรมูโนะและตลาดมูโนะ มีความสูง 1 เมตร บางจุดซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำจะมีปริมาณน้ำท่วมขังโดย
ปริมาณ 1.50 ถึง 2 เมตร ทั้งนี้ นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ รองประธานสภา อบจ.นราธิวาส ได้ร่วมกับจิตอาสาและชาวบ้านเปิดครัวสนาม ทำข้าวกล่องตระเวนแจกจ่ายให้กับประชาชนวันละ 1,500 กล่อง เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน ที่ไม่สามารถทำการปรุงอาหารไว้รับประทานได้
นอกจากนี้ผลพวงประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสภาวะน้ำท่วมในครั้งนี้ มีถนนหนทางสายหลักและสายรองถูกน้ำท่วมขัง จำนวน 47 สาย มีทั้งรถยนต์ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ไม่สามารถสัญจรไปมาระหว่างอำเภอต่ออำเภอได้ อาทิ สายสุไหงโก-ลก กับตากใบ สายสุไหงโก-ลก กับแว้ง สายสุไหงโก-ลก กับสุไหงปาดี ทำให้สถานีตำรวจภูธรมูโนะและตลาดมูโนะ ถูกน้ำท่วมขังถนน จนตัดขาดจากโลกภายนอกเหมือนอยู่ในเมืองบาดาล
และจากการตระเวนเส้นทางหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำจากตลาดมูโนะและสถานีตำรวจภูธรมูโนะ ซึ่งเป็นสายรองที่มุ่งสู่ตลาดมูโนะและอำเภอตากใบ บ้านเรือนของประชาชนถูกน้ำท่วมขังและระบายน้ำบางจุดท่วมถนน จนรถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรไปมาได้ โดยเฉพาะช่วง ต.ปูโยะ อ.สุไหงโก-ลก กระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวได้พัดกำแพงรั้วของกูโบร์พังเสียหายเป็นความยาวประมาณ 40 เมตร แถบขอบถนนถูกน้ำกัดเซาะได้รับความเสียหายไปด้วย
อย่างไรก็ตามสภาวะน้ำท่วมขังในครั้งนี้ บนถนนสายสุไหงโก-ลกกับตากใบ ได้มีประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง ได้พาบุตรหลานมาเล่นน้ำเป็น
ที่สนุกสนาน รวมทั้งนำยานพาหนะมาล้างทำความสะอาด จนถนนกลายสภาพเสมือนแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง
ส่วนกรณีความคืบหน้ากับเกี่ยว นายนพดล มะลิลา ได้ขับรถยนต์กระบะพาครอบครัวและเพื่อนบ้านรวม 7 คน ตกคอสะพานบ้านโนนสมบูรณ์ ม.5 ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เมื่อเวลา 02.30 น. ของคืนวันที่ 27 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา ล่าสุด นายอรุณ ศรีใส นายอำเภอสุคิริน ได้ระดมชาวบ้าน 2 หมู่บ้าน คือ บ้านภูเขาทองและบ้านมาโมง ซึ่งเป็นจุดปลายน้ำและต้นน้ำของจุดเกิดเหตุ ที่ถือว่ามีความชำนาญ ลงเรือพาย กระจายกันค้นหาตามกอวัชพืช ที่คาดว่าศพของนายนพดล น่าจะถูกกระแสน้ำที่เชี่ยวพัดไปติดคาอยู่
ซึ่งในวันนี้ได้ยกเลิกชุดประดาน้ำจากหน่วยนาวิกโยธิน เนื่องจากมวลน้ำขุ่นไม่สามารถที่จะงมคว้านหาศพของนายนพดลได้สะดวก และคาดว่าศพของนายนพดล น่าจะถูกกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวพัดไปไกลหลายกิโลเมตร แต่ยังคงมีความหวังที่จะเจอศพ
ส่วนศพของผู้เสียชีวิตทั้ง 6 คนนั้น ทางเครือญาติได้รับศพไปประกอบพิธีทางศาสนา ในพื้นที่ อ.สุคิริน แล้ว โดยไม่ได้มีการรับศพไปประกอบพิธีที่ภูมิลำเนา เนื่องจากมีความยุ่งยากที่จะต้องย้ายมาฝังที่ภูมิลำเนา จากสภาวะฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดนราธิวาส เตรียมที่จะเยียวยากับครอบครัวผู้สูญเสีย เนื่องจากเป็นผลกระทบจากอุทกภัย
ปัตตานีอ่วม ฝนตกหนักต่อเนื่อง แถมน้ำจากยะลาไหลเข้าท่วมซ้ำ ทำประชาชนกว่า 260 หลังคาเรือนได้รับผลกระทบ ต้องขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ทหารพราน 43 นำจิตอาสาเร่งเข้าช่วยเยียวยา และมอบถุงยังชีพ ยารักษาโรค น้ำดื่ม
เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 65 จากสถานการณ์ฝนตกหนักในภาคใต้ ทำให้กระแสน้ำจากจังหวัดยะลาได้ไหลเข้าท่วมตำบลม่วงเตี้ย อำเภอแม่ลาน จ.ปัตตานี ทั้ง 6 หมู่บ้าน โดยชาวบ้านได้รับความเสียหายกว่า 260 หลังคาเรือน ซึ่งโชคดีที่ชาวบ้านส่วนใหญ่มีการขนย้ายของขึ้นที่สูงได้ทัน
ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ ตำบลม่วงเตี้ย พบว่าน้ำยังคงท่วมสูงตั้งแต่ทางเข้าหมู่บ้าน และพบว่าบางจุดมีน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร บ้านเรือนของชาวบ้านมีน้ำเข้าท่วมหลายหลังคาเรือน ถนนในหมู่บ้านไม่สามารถใช้งานได้ ชาวบ้านบางส่วนได้แต่เดินลุยน้ำหรือไม่ก็นั่งเรือเพื่อออกมาหาของกินของใช้ และน้ำประปาก็ไม่สามารถใช้งานได้
ซึ่งกรมทหารพรานที่ 43 โดย พ.อ.ทวีพร คณะทอง ผบ.ฉก.ทพ.43 ได้นำกำลังพลชุดจิตอาสาฯ ของหน่วย เดินทางช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ตำบลม่วงเตี้ย พร้อมนำเรือยางลุยน้ำมอบถุง
ยังชีพ ยารักษาโรค และน้ำดื่ม ถึงบ้านของชาวบ้าน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นการเบื้องต้น
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ฝนตกหนักในจังหวัดปัตตานี ณ ตอนนี้ฝนได้หยุดตกตั้งแต่เมื่อวานที่ผ่านมาแล้ว แต่ยังคงมีกระแสน้ำจากจังหวัดยะลาที่ไหลผ่านมาพื้นที่จังหวัดปัตตานีและเกิดน้ำท่วมขึ้น โดยต้องใช้เวลาประมาณไม่เกิน 1 สัปดาห์ กว่าปริมาณน้ำจะลดลงเป็นปกติ ซึ่งในพื้นที่จังหวัดปัตตานีที่เกิดน้ำท่วม ทางจังหวัดได้มีการช่วยเหลือเยียวยาไปแล้วเกือบทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ