วันนี้ (28 พ.ย.2567) น้ำท่วมเขตเมืองยะลาวิกฤตหนัก โดยตั้งแต่ช่วงเช้า ถนนตั้งแต่ค่ายสิรินธร ซึ่งเป็นเส้นทางเข้าสายเก่ามาสู่ จ.ยะลา น้ำได้ไหลเข้าท่วมภายในค่าย ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกกำหนดว่า จะใช้เป็นศูนย์อพยพ แต่น้ำที่ไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว ทำให้ทางกองทัพ ต้องหาพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อใช้ในการอพยพผู้คน
ทีมข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้ นั่งรถบรรทุกขนาด 2 ตันครึ่ง ของเจ้าหน้าที่ทหารจากกองทัพภาคที่ 4 ได้บรรทุกผู้คนที่เดินลุยน้ำ และต้องการจะกลับเข้าไปดูทรัพย์สินภายในบ้าน หลังจากมีการย้ายทรัพย์สินส่วนออกมาภายนอกแล้ว ตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา
หลังน้ำได้ไหลเข้าท่วมตั้งแต่ช่วงกลางดึกและเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงเช้าที่เพิ่มสูงมากขึ้น บางจุดนั้นสูงเกือบ 2 เมตร
ระหว่างเส้นทาง พบสภาพของรถจักรยานยนต์นับร้อยคัน จมอยู่ใต้น้ำ เช่นเดียวกับรถยนต์ของชาวบ้านที่เสียหายนับร้อยคัน ขณะที่บางคันที่พยายามขับฝืนฝ่ากระเเสน้ำเชี่ยว แต่เกิดดับกลางน้ำ
ส่วนสองข้างทาง ซึ่งเป็นเส้นทางเข้าสู่ตัวเมืองตั้งแต่ค่ายสิรินธรมาจนถึงบริเวณหอนาฬิกาน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ผู้คนพยายามเดินฝ่ากระแสน้ำออกมา ขณะเดียวกันก็มี
ทรัพย์สินรวมถึงว่าสินค้าของชาวบ้านที่ขนย้ายไม่ทัน ลอยน้ำกระจัดกระจาย
ส่วนการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ทหารก็พยายามที่จะช่วยเท่าที่จะช่วยได้ ทั้งในส่วนของการบรรทุกประชาชนเข้าไปในบ้านเรือนของตัวเองหรือว่านำเสบียงเข้าไป แต่ปัญหาหลักของยะลาตอนนี้ เนื่องจากพื้นที่น้ำท่วมนั้นขยายเป็นวงกว้างทำให้ การเข้าช่วยเหลืออาจจะไม่ได้ครอบคลุม รวมถึงยังขาดอุปกรณ์หลายอย่าง โดยเฉพาะเรือท้องแบนหรือเรือที่สามารถต้านแรงน้ำเข้าไปอพยพผู้คนที่ยังคงติดอยู่ภายในบ้าน
อ.เมืองยะลาน้ำท่วมสูงเกือบ 2 เมตร ประชาชนต้องอพยพสิ่งของขึ้นชั้นสอง นราธิวาสประกาศทั้ง 13 อำเภอเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว ปิดโรงเรียน 68 แห่ง ขณะที่ จ.ปัตตานี ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย ได้รับผลกระทบหนัก 6 อำเภอ มีผู้เสียชีวิต 2 คน
วันนี้ (28 พ.ย.2567) สถานการณ์น้ำท่วมสูงล้อมรอบ ต.หน้าถ้ำ อ.เมืองยะลา ส่งผลให้บ้านเรือนของชาวบ้านหมู่ 1 ถึง 4 น้ำท่วมทั้งหมด ซ้ำร้ายมีน้ำที่ล้นทะลักจากคลองละแอ ใน อ.ยะหา ไหลลงมา ทำให้ประชาชนต้องอพยพสิ่งของขึ้นชั้นสองของบ้าน หลังระดับน้ำสูงเกือบ 2 เมตร
ไม่แตกต่างไปจากพื้นที่ทั้ง 10 ตำบลเขตเมืองยะลาที่ถูกน้ำโอบล้อมไว้ทั้งหมดแล้ว เพราะฝนที่ยังตกหนักต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะหยุดตก บริเวณเส้นทางสายเก่าจากค่ายสิริธร มายังเส้นทางเข้าอำเภอเมืองยะลาจมอยู่ใต้น้ำ รถยนต์และรถจักรยานยนต์รับพันคันได้รับความเสียหายเพราะเจ้าของขนย้ายไม่ทัน บ้านเรือนซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านค้าที่ปลูกติดกันก็จมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งบริเวณนี้ยังเส้นทางที่ตั้งของโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิที่มีนักเรียนนับพันคน
นักเรียกหญิงหลายคนที่อาศัยในหอพักตัดสินใจ โทรศัพท์ให้ผู้ปกครองฝ่ายกระแสน้ำมารับ เพราะน้ำท่วมสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ก็มีเพื่อนอีกหลายคนที่เส้นทางกลับบ้านถูกตัดขาดและไม่สามารถเดินทางมารับได้ก็ยังติดในหอพัก
ขณะที่การขนส่งส่งผู้ป่วยก็อยากลำบาก รถขนส่งผู้ป่วยบางคัน ตัดสินใจกลับรถ เพราะไม่สามารถส่งต่อผู้ป่วยที่รักษาตัวที่ศูนย์อำนวยการแพทย์ไปยังโรงพยาบาลยะลาได้ เพราะน้ำที่ท่วมสูง จึงต้องนำกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลแห่งเดิม เพราะน้ำที่ท่วมสูง
ทำให้รถของทางราชการหลายคันที่พยายามขับฝ่ากระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวได้รับความเสียหาย และจมใต้น้ำเพราะเครื่องยนต์ดับ อย่างรถของเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย 3- 4 คันนี้ที่ยังจอดในน้ำ
สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดยะลาขณะนี้ถือว่าวิกฤติหนักสุดในรอบ 30 ปี สาเหตุหลักคือนฝนที่ตกสะสมมาตลอด 1 สับดาห์ ซึ่งการแจ้งเตือนว่า อาจตกต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือนจึงสร้างความกังวลให้ชาวบ้านอย่างมาก
เช่นเดียวกับ จ.นราธิวาสได้ประกาศให้ 13 อำเภอ เป็นเขตภัยพิบัติแล้ว โรงเรียนประกาศปิด 68 โรงเรียน ขณะเส้นทางคมนาคมเส้นทางรถไฟประกาศหยุดให้บริการเดินรถชั่วคราว เช่นเดียวกับการให้บริการรถขนส่งสาธารณะที่เชื่อมระหว่างจังหวัดทั้งสามจังหวัดหยุดให้บริการเช่นกัน
ส่วนที่จังหวัดปัตตานีน้ำจากแม่น้ำปัตตานีได้เอ่อไหลเข้าท่วมพื้นที่เมืองเกือบทุกเส้นทาง ซึ่งจังหวัดปัตตานีต้องเผชิญทั้งน้ำฝนที่ตกสะลมในพื้นที่ของตัวเอง น้ำจากพื้นที่ใกล้เคียง และน้ำจากจังหวัดยะลาที่จะไหลไปสมทบก่อนลงสู่ทะเล ทำให้ขณะนี้ทางจังหวัดปัตตานีประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เหตุอุทกภัย ในพื้นที่ ทั้ง 12 อำเภอ ได้รับผลกระทบหนัก 6 อำเภอ มีผู้เสียชีวิต 2 คน นื่องจากจมน้ำ และถูกไฟฟ้าดูด
โดย จ.ปัตตานี มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย.2567 จนถึงวันนี้ ได้รับผลกระทบหนัก 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ทุ่งยางแดง อ.หนองจิก อ.มายอ อ.แม่ลาน อ.ไม้แก่น อ.โคกโพธิ์ รวม 39 ตำบล 194 หมู่บ้าน 8,452 ครัวเรือน ราษฎรได้รับผลกระทบ 28,969 คน
มีผู้เสียชีวิต 2 คน พื้นที่ด้านการเกษตร ได้รับความเสียหาย 1,252 ไร่ ประมง 25 บ่อ ด้านปศุสัตว์ อยู่ระหว่างการสำรวจ มัสยิด 3 แห่ง วัด 1 แห่ง โรงเรียน 6 แห่ง ปอเนาะ 1 แห่ง ดาตีกา 1 แห่ง บ้านเรือน 39 หลัง
ในขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ ต.ปะกาฮะรัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ติดแม่น้ำปัตตานี และ เป็นพื้นที่น้ำท่วมสูงสุดของ อ.เมือง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ราบลุ่ม และอยู่ติดกับแม่น้ำปัตตานี โดยสถานการณ์ล่าสุดพบว่า เส้นทางเข้าออกภายในหมู่บ้านถูกตัดขาดระดับน้ำทางเข้าหมู่บ้านสูงกว่า 1 เมตร และพื้นที่ติดแม่น้ำสูงเกือบ 2 เมตร ทำให้ชาวบ้านที่เดินทางเข้าออกต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง
สำหรับในพื้นที่ ต.ปะกาฮะรังขณะนี้ เข้าท่วมแล้วใน 3 หมู่บ้านได้แก่ ม.1 บ.ปะกาฮะรัง ม.2 บ.ยือโม๊ะ และ ม.2 บ.จางาน ราษฎรกว่า 1 พันหลังคาเรือนเผชิญกับน้ำท่วมสูง
ด้าน นายเจ๊ะเซอแม อาราหลี ผู้ใหญ่บ้าน ม.2 บ.จางา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ระดับน้ำขึ้นเร็วมาก ทำให้ต้องมีการประสานกับลูกบ้านให้รีบน้ำสิ่งของเครื่องใช้ไปไว้ที่สูง เพราะรับน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นอีก 50 เซนติเมตร ซึ่งจากเดิมระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตรแล้ว
ด้าน ชาวบ้านในพื้นที่ ต.ปะกาฮะรัง กล่าวว่า ถึงแม้ว่าพื้นที่ตรงนี้จะเกิดน้ำท่วมบ่อย ชาวบ้านก็จะเดือดร้อนตลอด แต่ปีนี้สูงกว่าปีที่แล้ว และน้ำมาเร็วมาก ซึ่งเพียงแค่ 1 วันกับ 1 คืน ระดับน้ำก็ท่วมสูงแล้ว ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ เพราะส่วนมากระดับน้ำสูงขนาดนี้ต้องใช้เวลาเกือบ 1 อาทิตย์ จุดที่ตนยืนอยู่เมื่อวานยังไม่มีน้ำเลย ตอนนี้ก็ลำบาก เวลาไปไหนมาไหน ถ้าไม่มีเรือก็ต้องเดินลุยนำออกไป
แม่น้ำสายหลัก 3 สายของ จ.นราธิวาส ล้นตลิ่ง ทะลักเข้าท่วมทั้งจังหวัด สั่งปิดโรงเรียน 68 แห่ง ถนน 6 สายถูกตัดขาด
วันที่ 28 พ.ย. 67 สถานการณ์น้ำท่วม จ.นราธิวาส ล่าสุดโดยภาพรวมยังคงมีฝนตกลงมาอย่างหนัก ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ ส่งผลให้แม่น้ำสายหลัก 3 สาย คือ แม่น้ำบางนรา แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำโก-ลก มีปริมาณสูงล้นตลิ่ง และไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรและบ้านเรือนของประชาชนในพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ จำนวน 76 ตำบล 511 หมู่บ้าน 38 ชุมชน มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 42,285 ครัวเรือน รวมทั้งสิ้น 154,535 คน
ผลจากอุทกภัยทำให้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาทั้ง 3 เขต ต้องประกาศปิดการเรียนการสอนเป็นการชั่วคราว รวมจำนวน 68 แห่ง เนื่องจากสถานศึกษาบางแห่งมีน้ำท่วมขัง สูง และบ้านของนักเรียนบางส่วนมีน้ำท่วมขัง รวมทั้งถนนบางสายถูกตัดขาด นักเรียนจึงไม่สามารถเดินทางมาเรียนหนังสือได้
น้ำท่วมยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเดินรถประจำ โดยรถตู้โดยสารประจำทางที่วิ่งรับส่งผู้โดยสารจากพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก ไปยังปลายทาง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ประกาศงดให้เดินรถบริการผู้โดยสารเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. เนื่องจากถนนสายหลักในแต่ละพื้นที่อำเภอ ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปริมาณน้ำท่วมขังสูงเป็นจุด ๆ
ขณะเดียวกัน เส้นทางคมนาคมเส้นทางรถไฟประกาศหยุดให้บริการเดินรถชั่วคราว
ในส่วนเส้นทางแขวงทางหลวงชนบทนราธิวาสในพื้นที่ 3 อำเภอ ของ จ.นราธิวาส คือ อ.ระแงะ อ.แว้ง และ อ.เมืองนราธิวาส ที่ยานพาหนะทุกชนิดไม่สามารถแล่นผ่านได้ มีด้วยกัน 6 สาย คือ
-ถนนสายศูนย์ราชการ อ.เมืองนราธิวาส มีน้ำท่วมขังสูง 40 ถึง 50 ซม.
-ถนนสายบ้านบาโงสะโต อ.ระแงะ มีน้ำท่วมขังสูง 90 ซม.
-ถนนสายรอยต่อระหว่างบ้านมะนังตายอกับ อ.เมืองนราธิวาส มีน้ำท่วมขังสูง 100 ซม.
-ถนนสายบ้านป่าไผ่ อ.ระแงะ มีน้ำท่วมขังสูง 100 ซม.
-ถนนสายบ้านตันหยงมัส อ.ระแงะ มีน้ำท่วมขังสูง 50 ซม.
-ถนนสายบ้านบูเก๊ะตา อ.แว้ง มีน้ำท่วมขังสูง 60 ซม.
จากการตระเวนตรวจสอบยังพบว่า พื้นที่ที่ประชาชนได้รับผลกระทบหนักสุดในเบื้องต้นขณะนี้ อยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อ.ระแงะ อ.รือเสาะ อ.แว้ง และ อ.สุไหงโก-ลก โดยยังคงมีปริมาณน้ำท่วมขังสูงอย่างต่อเนื่อง จากผลพวงของแม่น้ำสายหลักที่รองรับมวลน้ำป่าจากเทือกเขาสันกาลาคีรีไหลลงมาบรรจบล้นตลิ่ง
พื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก บริเวณ 8 ชุมชนที่มีบ้านเรือนของประชาชนปลูกสร้างอยู่บริเวณตลอดแนวริมตลิ่งของแม่น้ำโก-ลก คือ ชุมชนหัวสะพาน ชุมชนโปฮงยามู ชุมชนท่าประปา ชุมชนกือดาบารู ชุมชนเสาสัญญาณ ชุมชนท่ากอไผ่ ชุมชนท่าโรงเลื่อย และชุมชนบือเร็ง มีน้ำท่วมขังสูงจากวานนี้ 20 ซม. โดยอยู่ในระดับมีน้ำท่วมขังสูงโดยภาพรวม 190 ซม.
เจ้าหน้าที่ทหารสังกัด กองร้อย 151 พัน 2 ค่ายกัลยาณิวัฒนา ต้องเดินฝ่ากระแสน้ำที่มีน้ำท่วมขังสูง คอยให้การช่วยเหลือประชาชน ซึ่งล่าสุดประชาชนใน 8 ชุมชน ทั้งเด็กเล็ก หญิงชรา ต้องอพยพไปอาศัยอยู่ที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยชั่วคราว โรงเรียนเทศบาล 4 บ้านทรายทอง จำนวน 182 คน
จากการตระเวนตรวจสอบการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ อ.ระแงะ พ.ต.ต.จีรยุทธิ์ แก้วด้วง สารวัตรสถานีตำรวจน้ำ 3 กองกำกับการ 7 กองบังคับการตำรวจน้ำนราธิวาส ได้นำกำลังพลพร้อมเรือยาง เดินลุยน้ำที่มีน้ำท่วมขังสูง 170 ซม. ในพื้นที่ ม.1 ต.ตันหยงมัส ที่มีประชาชนอาศัยอยู่จำนวน 150 ครัวเรือน ออกให้การช่วยเหลืออพยพประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นการเร่งด่วน
นอกจากนี้ ในพื้นที่บ้านมูบาแรแน ม.7 ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ ร.อ.วัชรินทร์ ลีพิลา ผบ.ร้อย ทพ.4910 ได้ร่วมกับนายรุสลี เต๊ะ ผู้ใหญ่บ้านมูบาแรแน ต.ช้างเผือก และชาวบ้าน พร้อมรถเครน ลงไปช่วยกันกำจัดวัชพืชซากเศษท่อนไม้ขวางทางน้ำที่บริเวณสะพานในหมู่บ้าน เพื่อให้กระแสน้ำได้ไหลระบายสะดวก ก่อนที่มวลน้ำจะเข้าท่วมภายในหมู่บ้านดังกล่าว
อย่างไรก็ตามในพื้นที่เขตเมืองนราธิวาส มีการแจ้งเตือนผ่านโซเชียลตลอดถึงระดับน้ำที่อาจจะท่วม โดยขอให้ประชาชนเตรียมความพร้อม เพราะหลายพื้นที่เพิ่งจะเคยประสบสถานการณ์อุทกภัยครั้งแรก
น้ำท่วมภาคใต้ วิกฤต 7จังหวัดยังประสบภัยพิบัติ ปภ.เผยยอดผู้เสียชีวิต4 เดือดร้อน 240,812 ครัวเรือน ช่วง 22-29พ.ย.67 สนทช.ตั้งวอร์รูมที่นครศรีธรรมราช วางแผนบริหารจัดการน้ำ อพยพประชาชนกลุ่มเปราะบางไม่สามารถช่วยตัวเองได้
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขอรายงานสถานการณ์สาธารณภัย รายงานน้ำท่วมภาคใต้ ระหว่างวันที่ 22-29 พฤศจิกายน 2567 เกิดสถานการณ์ในพื้นที่ 9 จังหวัด ประกอบด้วย ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ครอบคลุมพื้นที่ 78อำเภอ 477 ตำบล 2,959 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับ ผลกระทบ 240,812 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 4 ราย (จ.ปัตตานี 2 ราย จ.สงขลา 2 ราย)
ปัจจุบัน คงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) 68 อ. 452 ต. 2,831 ม.
ประชาชนได้รับผลกระทบ 240,007 ครัวเรือน
นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ครั้งที่ 7/2567 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมโครงการชลประทานนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช
ที่ประชุมได้รายงานสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ การคาดการณ์ และแนวทางการเตรียมความพร้อมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที้ ทั้งนี้ประธานฯ ได้เน้นย้ำ การให้ความช่วยเหลือ และอพยพประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
สนช.เปิดเผยว่า สถานการณ์ น้ำท่วมภาคใต้ วันที่ 29 พ.ย. 67 พื้นที่ประสบภัย 7 จังหวัด ได้แก่
- จ.นครศรีธรรมราช (อ.ชะอวด เฉลิมพระเกียรติ พระพรหม เมืองฯ ร่อนพิบูลย์ จุฬาภรณ์ ปากพนัง พรหมคีรี นบพิตำ หัวไทร และทุ่งสง)
-จ.พัทลุง (อ.เมืองฯ ศรีบรรพต ควนขนุน ปากพะยูน และบางแก้ว )
-จ.สตูล (อ.ควนโดน เมืองฯ และท่าแพ )
-จ.สงขลา (อ.ระโนด สะเดา หาดใหญ่ สิงหนคร เทพา บางกล่ำ สะบ้าย้อย นาทวี จะนะ รัตภูมิ เมืองฯ นาหม่อม กระแสสินธุ์ ควนเนียง คลองหอยโข่ง และสทิงพระ)
-จ.ปัตตานี (อ.มายอ ทุ่งยางแดง หนองจิก แม่ลาน ไม้แก่น โคกโพธิ์ ยะรัง ยะหริ่ง เมืองฯ สายบุรี กะพ้อ และปะนาเระ )
-จ.ยะลา (อ.บันนังสตา เมืองฯ ยะหา รามัน เบตง ธารโต กรงปินัง และกาบัง)
-จ.นราธิวาส (อ.บาเจาะ แว้ง รือเสาะ เจาะไอร้อง สุคิริน ยี่งอ ระแงะ ตากใบ จะแนะ ศรีสาคร สุไหงโก-ลก สุไหงปาดี และเมืองฯ )
เช็กสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้รายจังหวัดประจำวันที่ 30 พ.ย. 67 พบยังท่วมอยู่ใน 8 จังหวัด 78 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 5.5 แสนคน
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรายงานสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ประจำวันที่ 30 พ.ย. 67 โดยปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ในพื้นที่ 78 อำเภอ 515 ตำบล 3,552 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 553,921 ครัวเรือน
ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 9 ราย จ.พัทลุง 1 ราย สงขลา 3 ราย ปัตตานี 3 ราย ยะลา 1 ราย นราธิวาส 1 ราย แต่ตัวเลขนี้ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง
สำหรับที่ จ.นครศรีธรรมราช เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 13 อเภอ 76 ตำบล 528 หมู่บ้าน เบื้องต้นประชาชนได้รับผลกระทบ 50,821 ครัวเรือน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ปริมาณฝนสูงสุด อ.นบพิตำ 215.5 มม.
ปัจจุบันคลองท่าดีระดับน้ำเพิ่มขึ้น
ส่วนที่ จ.พัทลุง เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 11 อำเภอ 61 ตำบล 557 หมู่บ้าน เบื้องต้นประชาชนได้รับผลกระทบ 102,494 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นชาย ปริมาณฝนสูงสุด อ.กงหรา 301.5 มม. ปัจจุบันลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาระดับน้ำเพิ่มขึ้น
จ.ตรัง เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 1 อำเภอ 1 ตำบล 2 หมู่บ้าน ได้รับผลกระทบ 6 ครัวเรือน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ปริมาณฝนสูงสุด อ.ย่านตาขาว 105.0 มม. ปัจจุบันลุ่มน้ำแม่น้ำตรังระดับน้ำเพิ่มขึ้น
ที่ จ.สตูล เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 4 อำเภอ 8 ตำบล 40 หมู่บ้าน เบื้องต้นประชาชนได้รับผลกระทบ 2,570 ครัวเรือน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ปริมาณฝนสูงสุด อ.ควนกาหลง 60.0 มม. ปัจจุบันแม่น้ำละงูระดับน้ำเพิ่มขึ้น
จ.สงขลา เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 16 อำเภอ 118 ตำบล 839 หมู่บ้าน เบื้องต้นประชาชน
ได้รับผลกระทบ 132,567 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย เป็นชาย 2 ราย และหญิง 1 ราย ปริมาณฝนสูงสุด อ.เมือง 225.0 มม. ปัจจุบันลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาระดับน้ำลดลง
ที่ จ.ปัตตานี เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 12 อำเภอ 116 ตำบล 651 หมู่บ้าน เบื้องต้นประชาชนได้รับผลกระทบ 144,702 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย เป็นหญิง 1 ราย ชาย 2 ราย ปริมาณฝนสูงสุด อ.หนองจิก 119.1 มม. ปัจจุบันแม่น้ำปัตตานีระดับน้ำเพิ่มขึ้น
ด้าน จ.ยะลา เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 8 อำเภอ 58 ตำบล 344 หมู่บ้าน เบื้องต้นประชาชนได้รับผลกระทบ 32,830 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นชาย ปริมาณฝนสูงสุด อ.รามัน 174.0 มม. ปัจจุบันแม่น้ำสายบุรีระดับน้ำเพิ่มขึ้น
และที่ จ.นราธิวาส เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 13 อำเภอ 77 ตำบล 591 หมู่บ้าน เบื้องต้นประชาชนได้รับผลกระทบ 87,931 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1ราย เป็นหญิง ปริมาณฝนสูงสุด อ.ระแงะ 336.6 มม. ปัจจุบันแม่น้ำสายบุรีระดับน้ำเพิ่มขึ้น
ปภ.รายงานมีสถานการณ์อุทกภัยใน 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และ นครศรีธรรมราช รวม 27 อำเภอ 137 ตำบล 814 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 43,595 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 3 คน
วันนี้ (15 ธ.ค.2567) นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่าจากสถานการณ์ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีน ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ทําให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากระหว่างวันที่ 22 พ.ย. - 15 ธ.ค.2567 เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวม 98 อำเภอ 625 ตำบล 4,264 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 675,160 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 32 คน
ปัจจุบันยังมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 4 จังหวัด รวม 27 อำเภอ 137 ตำบล 814
หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 43,595 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 3 คน ได้แก่
1.จ.ชุมพร เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ปะทิว อ.เมืองฯ อ.สวี อ.ทุ่งตะโก อ.หลังสวน และอ.ละแม
รวม 6 ตำบล 47 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,701 ครัวเรือน ปัจจุบันคลองหลังสวนระดับน้ำลดลง
2.จ.ระนอง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.กระบุรี อ.ละอุ่น และอ.เมืองฯ รวม 12 ตำบล 42 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,070 ครัวเรือน ปัจจุบันคลองญวนระดับน้ำลดลง
3.จ.สุราษฎร์ธานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.ท่าชนะ อ.ท่าฉาง อ.เมืองฯ อ.กาญจนดิษฐ์ อ.ดอนสัก
อ.เกาะพงัน และอ.เกาะสมุย รวม 27 ตำบล 104 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,216 ครัวเรือน ปัจจุบันแม่น้ำตาปี
มีระดับน้ำเพิ่มขึ้น
4.จ.นครศรีธรรมราช เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ อ.ชะอวด อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.เมืองฯ อ.ปากพนัง อ.เชียรใหญ่ อ.พระพรหม อ.สิชล อ.นบพิตำ อ.ท่าศาลา อ.ขนอม และอ.ช้างกลาง รวม 51 ตำบล
289 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 32,608 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 3 คน ปัจจุบันคลองท่าดีระดับน้ำลดลง
สำหรับการให้ความช่วยเหลือประชาชน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้กระจายกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักกลสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบน้ำ รถสูบน้ำระยะไกล รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถผลิตน้ำดื่ม รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัย เรือท้องแบน พร้อมเครื่องยนต์ เฮลิคอปเตอร์ป้องกันละบรรเทาสาธารณภัย KA 32 เข้าช่วยเหลือในพื้นที่อย่างเต็มกำลัง
รวมถึงทีม ปภ.ส่วนหน้า ยังคงคิดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและประสานการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน นอกจากนี้ ปภ.ได้กำชับให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเร่งประสานจังหวัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป